PERSPECTIVE OF AEC – เมื่อ ธกส.พาบุกตลาดกัมพูชา

0
571


สองปีที่ผ่านมาธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือที่คนส่วนใหญ่ชอบเรียกชื่อย่อ “ธกส.”ได้จัดโครงการ “ธกส.เดินหน้าเปิดตลาดอาเซียน” ร่วมกับ FM 100.5 อสมท. เพื่อจะหาลู่ทางส่งเสริมลูกค้าของธกส.ให้มีศักยภาพสามารถ ส่งออกไปในประเทศอาเซียนได้ ผมมีโอกาสไปร่วมบรรยายให้ผู้บริหารธกส.และลูกค้าทั้งสองปีร่วมกับคณะวิทยากรของ FM 100.5 ท่านอื่นๆ

ระหว่างการบรรยายผมมักจะย้ำอยู่เสมอๆว่าแค่เรียนรู้ในห้องไม่พอแน่ๆ ควรจะต้องเดินทางไปดูตลาดด้วยตาตัวเองจะได้รู้ กันชัดๆไปเลยว่าตลาดอาเซียนนั้นน่าสนใจขนาดไหน โดยควรจะเริ่มด้วยตลาดในกลุ่ม CLMV หรือ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์และเวียดนามกันเสียก่อนเพราะเป็นประเทศที่สินค้าไทยและเกษตรกรไทยมีโอกาสสูงที่จะส่งออกได้ สุดท้าย ธกส.ก็เลือกที่จะพาเกษตรกรไทยไปสำรวจตลาดกัมพูชากับผมและ FM 100.5 ที่กรุงพนมเปญในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

เวลาผมจัดทริปให้บริษัทต่างๆเดินทางไปในอาเซียนโดยเฉพาะใน CLMV นั้นผมพบว่าคนไทยเรารู้จักเพื่อนบ้านน้อย มากๆ น้อยอย่างน่าตกใจ และเมื่อได้รู้จักเพื่อนบ้านในทุกๆมุมที่ผมและวิทยากรของ FM 100.5 เล่าให้คณะผู้เดินทางฟัง บนรถตลอดระยะเวลาที่ไปดูงานไม่ว่าจะเห็นอะไรก็ตาม เช่นเห็นคนกัมพูชาขับรถย้วยกันไปย้วยกันมาเต็มถนน เห็นคน สปป.ลาวยังนุ่งซิ่นหรือเห็นคนเมียนมาร์ยังชอบนุ่งโสร่งกันอยู่ เห็นคนเวียดนามที่ขี่มอเตอร์ไซค์ไปบีบแตรไปจนดังลั่น ทั้งเมือง สิ่งต่างๆ เหล่านี้หากดูด้วยสายตานักท่องเที่ยวทั่วไปก็จะไม่ค่อยเห็นอะไรแถมบางคนจะแอบดูถูกในใจ บางคน ก็แอบขำ

แต่พอได้รับคำอธิบายและที่ไปที่มาของสิ่งต่างๆเหล่านี้ทัศนคติของคนไทยที่มีต่อเพื่อนบ้านจะเปลี่ยนไปทันทีเช่น การที่ คนกัมพูชาเขาขับรถย้วยกันไปย้วยกันมาล้ำเลนกันจนดูน่าเวียนหัวไร้ระเบียบวินัยอย่างน่ากลัวนั้น หากดูดีๆดูให้ลึกๆก็ จะเห็นว่าเขาขับรถกันแบบมีน้ำใจ เขาถ้อยทีถ้อยอาศัยแบ่งๆกันไป ไม่บ่นไม่บีบแตรใส่กัน ไม่มองหน้ากันแบบที่คนไทย ต้องทำทันทีเมื่อมีใครขับรถมาล้ำเลนของเรา ทำให้คนกัมพูชาสามารถเดินทางไปกันได้อย่างเรื่อยๆแบบแบ่งๆกันไป แม้การจราจรจะค่อนข้างติดขัด ใช้รถใช้ถนนกันแบบใจร่มๆแบบที่คนไทยเคยทำได้ในอดีตแต่ตอนนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว หรือที่ไปที่มาของโสร่งที่คนเมียนมาร์ยังนิยมนุ่งกันอยู่ทั้งผู้หญิงและผู้ชายนั้นเป็นเพราะผู้ออกแบบคือนายพลอองซาน ฮีโร่ของชาติที่ตั้งใจออกแบบโสร่งให้เป็นชุดประจำชาติ เมื่อเรารู้เช่นนั้นและเห็นคนเมียนมาร์นุ่งโสร่งเราก็จะเริ่ม ภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ความเป็นชาติของเขาไปด้วย

ส่วนหนึ่งของการเดินทางที่ผมให้ความสำคัญอย่างมากก็คือการพาคณะไปลองทานอาหารท้องถิ่นที่อร่อยจริงๆ ต้องเน้น คำว่าอร่อยจริงๆก่อน เพราะจากประสบการณ์ที่ผมเดินทางไปทั่วอาเซียนมาแล้วนั้น ทำให้ผมค้นพบอาหารอร่อยจริงๆของ ประเทศเพื่อนบ้านว่าอยู่กันที่ไหน แต่ต้องเป็นความอร่อยที่ถูกปากคนไทยด้วยถึงจะพาคณะไปลองทาน เพราะมีร้านเยอะ มากที่คนท้องถิ่นบอกว่าอร่อยแต่คนไทยไปทานแล้วบอกไม่อร่อย ลองไปสอบถามคณะผู้บริหาร PTTGC บ.พีทีที โกลบอล เคมิคัล จำกัด (มหาชน) ที่เคยเดินทางไปกับผมดูสิครับว่าอาหารเวียดนามและอาหารเมียนมาร์ร้านที่ผมพาไป ทานนั้นอร่อยจริงถูกปากถูกใจหรือไม่? ที่สำคัญร้านอาหารส่วนใหญ่ที่ผมพาคณะไปทานนั้นทัวร์ทั้งหลายจะไม่รู้จัก ถึงรู้จักถ้าไปจองแบบทัวร์เขาก็ไม่รับครับ ถึงจะจองได้แต่ถ้าสั่งไม่ถูกเมนูอาหารก็จะไม่อร่อยอีก ใครที่สนใจร้านอร่อย เพื่อนบ้านที่ถูกปากถูกใจคนไทยลองไปดูเฟซบุ๊ค “Mr.AEC พากิน” ที่ผมรวบรวมเอาร้านอร่อยใน AEC มาให้ตามรอย ไปชิมกัน

ที่ผมให้ความสำคัญกับการเล่าเรื่องชีวิต วัฒนธรรมและการพาไปทานอาหารอร่อยๆของแต่ละชาตินั้นเป็นเพราะผมต้อง การให้คณะผู้ร่วมเดินทางได้รู้จักประเทศที่เราไปทัศนศึกษาอย่างถูกต้องและลึกซึ้ง ซึ่งเมื่อเรารู้จักและเข้าใจเพื่อนบ้านเรา อย่างถูกต้องเราก็จะรักเพื่อนบ้านเรามากขึ้น เมื่ออยากจะไปลงทุนหรือไปค้าขายเราก็จะประสบความสำเร็จ PTTGC เป็นตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้

คำถามที่ถามกันมากก็คือทริปของธกส.ครั้งนี้ก็คือเกษตรกรไทยจะเอาอะไรไปขายกัมพูชา เพราะที่นั่นก็ปลูกและแปรรูป สินค้าเกษตรได้เหมือนไทยเราไม่ใช่หรือ? เป็นความจริงที่ว่ากัมพูชาและประเทศเพื่อนบ้านเราสามารถปลูกพืชผักผลไม้ ได้คล้ายๆเรา แถมสินค้าเกษตรแปรรูปหรือสินค้าหัตถกรรมของเขาก็คล้ายคลึงกับเรา แต่ผมมองเรื่องนี้ต่างมุมว่าเพราะ เขาเพาะปลูกได้คล้ายๆเรานี่แหล่ะที่เป็นโอกาสที่เกษตรกรไทยจะขายของได้ ลองนึกถึงความรู้สึกตัวเองเวลาเราเดินทาง ไปต่างประเทศแล้วเห็นผลไม้หรือพืชผักที่ไทยเราก็ปลูกได้ เรายังนึกอยากจะลองซื้อชิมดูเลยว่าของเขากับของเราของใคร จะอร่อยกว่ากัน คนกัมพูชาก็เช่นเดียวกันย่อมอยากจะลองชิมของไทยเหมือนกันว่าแตกต่างจากของเขามั้ย ถ้าของไทย อร่อยกว่าก็จะสามารถขายกันได้ยาวๆเลยทีเดียว นี่ยังไม่รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกปีละ 5 ล้านคนที่มาเที่ยวกัมพูชา ซึ่งส่วนมากก็จะมาเที่ยวเมืองไทยก่อนจะไปกัมพูชา นักท่องเที่ยวเหล่านี้ซึ่งเคยได้ทานของไทยก็ย่อมจะติดใจอยากจะทาน ผักผลไม้ของไทยอีกเช่นกัน

คำถามต่อมาก็คือแล้วคนกัมพูชาจะมีเงินมาซื้อของไทยหรือ? เขาจนมากไม่ใช่หรือ? สินค้าของไทยที่จะขายในกัมพูชานั้น ลูกค้าส่วนใหญ่คือคนฐานะปานกลางถึงฐานะดีที่นั่นครับ ซึ่งพวกเขามีกำลังซื้อมหาศาลแถมกล้าใช้สตางค์เสียด้วย ขอให้ ของที่จะเอาไปขายนั้นเป็นของดีที่สุดเท่านั้นเอง ถ้าเป็นของดีจริงๆผมรับรองว่าสามารถขายให้คนกัมพูชาได้แน่นอน ไม่เชื่อลองไปถามร้านขายของแบรนด์เนมของห้างดังๆในกรุงเทพสิครับว่าคนกัมพูชาที่เขารวยๆนั้นเวลาเขามาช้อปปิ้งนั้น เขากล้าใช้จ่ายกันขนาดไหน?

ทริปของธกส.คราวนี้ซึ่งนำโดยคุณสุรชัย รัศมี ผู้ช่วยผู้จัดการและมีผู้บริหารธนาคารทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาครวมถึง ลูกค้าธกส.อีกกลุ่มหนึ่งอยากจะได้ข้อมูลเชิงลึกของกัมพูชาผมเลยจัดให้ไปพบกับท่านทูตพาณิชย์ไทยประจำกรุงพนมเปญ ท่านจิราวุฒิ สุวรรณอาจ ซึ่งผมมีโอกาสได้เคยพบและเคยได้เรียนรู้ข้อมูลเชิงลึกจากท่านมาหลายครั้งแล้วรู้สึกประทับใจ มาก ท่านทูตพาณิชย์บอกกับคณะพวกเราว่าคนรวยมากๆในกัมพูชานั้น มีอยู่ราวๆ 5 เปอร์เซ็นต์นั้นมีกำลังซื้อสูงมาก ชอบ ซื้อของแบรนด์เนมโดยไม่เกี่ยงราคา ชอบมาช้อปปิ้งเมืองไทยและนิยมมาตรวจร่างกายและรักษาสุขภาพในกรุงเทพ ถ้าคิด จะขายของให้คนกลุ่มนี้ขอให้เตรียมของดีที่สุดเอาไว้ขายก็แล้วกัน ส่วนกลุ่มที่มีกำลังซื้อรองลงไปซึ่งมีอยู่ราว 15 เปอร์เซ็นต์ นั้นมีรสนิยมเหมือนคนไทยโดยทั่วไป ถ้าคิดจะขายของให้คนกลุ่มนี้ก็ขอให้คิดถึงว่าคนไทยชอบทานอะไร ชอบใช้อะไรก็ขอให้เอาของแบบเดียวกันนั่นแหล่ะมาขายให้คนกลุ่มนี้ ด้านการลงทุนนั้นพอท่านทูตพาณิชย์เอาโลโก้ บริษัทไทยที่มาลงทุนในกัมพูชาแล้วฉายขึ้นจอเท่านั้นคณะที่ไปถึงกับต้องอึ้งเพราะมีโลโก้ของแทบจะทุกบริษัทในเมือง ไทยเลยทีเดียวทั้งบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลาง

หลังจากนั้นผมได้พาคณะไปสำรวจตลาดทั้งที่เป็นโมเดิร์นเทรด ซุปเปอร์มาร์เก็ตและตลาดสดเพื่อให้ทุกคนเห็นสินค้าทั้ง สินค้าเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป งานหัตถกรรมและสินค้าอุตสาหกรรมทั้งของกัมพูชาของไทยและของประเทศอื่นๆ คณะจึงเข้าใจมากขึ้นถึงรสนิยมและกำลังซื้อของคนที่นี่และเริ่มมองเห็นลู่ทางในการค้าขายกับคนกัมพูชามากยิ่งขึ้น นอก จากนี้คุณโกศล จันทร ที่ปรึกษาใหญ่ของผมในกัมพูชายังได้เชิญคณะผู้บริหารหอการค้าและ SMEs คณะใหญ่ของกัมพูชา มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคณะของเราซึ่งเป็นการพูดคุยที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย เพราะขณะที่ผู้ประกอบการของไทย ได้มีโอกาสเจรจาทางธุรกิจกับผู้สนใจจะนำเข้าสินค้าไทยอย่างเต็มที่นั้น ปรากฎว่าทางคณะผู้บริหารหอการค้าและ SMEs ของกัมพูชาก็ให้ความสนใจในปรัชญาการทำงานช่วยเหลือเกษตรกรของธกส.มากเป็นพิเศษเพราะทางกัมพูชายังไม่มี ธนาคารที่มีภาระกิจช่วยเหลือเกษตรกรอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพเช่นธกส.ของไทยเรา

เรื่องอาหารการกินในกัมพูชาของคณะนี้นั้นไม่ต้องพูดถึงเพราะทางธกส.ได้ขอให้จัดร้านอาหารให้หลากหลาย ทั้งอาหาร ฝรั่งเศส อาหารจีน อาหารกัมพูชาอย่างดีและแบบบ้านๆ บางร้านคณะผู้บริหารธกส.ถึงกับลองลงไปนั่งขัดสมาธิทานขนม จีนพื้นเมืองแบบคนท้องถิ่นดู สุดท้ายทุกคนในคณะบอกว่าอาหารกัมพูชาอร่อยมาก อร่อยกว่าที่คิดและที่เคยได้ยินมาก่อน

ระหว่างการเดินทางผมซึ่งทำหน้าที่บรรยายในรถไปตลอดทั้งสามวันนั้นได้ชี้ให้เห็นถึงอัธยาศัยของคนกัมพูชาในการใช้ รถใช้ถนนที่เขาจะแบ่งๆกันไปแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ซึ่งพอสังเกตตามทุกคนก็เริ่มจะเข้าใจถึง “น้ำใจ” ของคนกัมพูชาบน ท้องถนน ในคืนวันที่สองที่การจราจรติดขัดอย่างหนักเพราะเป็นคืนวันศุกร์ คนขับของเราเลือกใช้ถนนเล็กๆเพื่อหนีรถติด ปรากฎว่าขณะที่รถบัสขนาดใหญ่ของเราต้องวิ่งผ่านร้านขายของข้างถนน แม่ค้าก็จะยกแผงยกกระจาดหลบรถให้ ตรงไหน ต้องผ่านกันสาดแม่ค้าก็จะยกกันสาดหลบให้ ถ้าแม่ค้ายกไม่ไหวคนกัมพูชาที่ขี่มอเตอร์ไซค์มาและรอหลีกรถเราอยู่แถวนั้น ก็จะวิ่งมาช่วยแม่ค้ายกกันสาด ที่น่าทึ่งก็คือทุกคนทำกันแบบยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่มีใครตาขวางหรือบีบแตรไล่รถบัสของเรา เลย เท่านั้นยังไม่พอบางจังหวะคนขับรถเรายังตะโกนบอกให้พี่มอเตอร์ไซค์วิ่งไปบอกรถที่จอดขวางทางรถบัสของเราให้ ถอยออกไปก่อนพี่มอเตอร์ไซค์ก็วิ่งไปบอกให้อย่างเต็มใจ นับเป็นสิบห้านาทีในถนนแคบๆที่คนไทยได้รับรู้ถึงน้ำใจบน ท้องถนนของคนกัมพูชาอย่างน่าประทับใจยิ่ง

[smartslider3 slider="9"]