PERSPECTIVE OF AEC – เมียนมาหลังเลือกตั้ง

0
464

คึกคักมากมายเกินความคาดหมายของทุกฝ่ายครับ คาดกันว่าคนเมียนมากว่า 80 เปอร์เซ็นต์น่าจะออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 8  พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมันเป็นการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยในรอบ 25 ปีของประเทศ เลยทีเดียว การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยไม่มีพรรคไหนคว่ำบาตร มีการแข่งขันกันหาเสียงกัน อย่างเต็มที่ ความจริงการตื่นตัวนั้นเห็นได้ชัดตั้งแต่ยอดผู้สมัครที่เพิ่มสูงขึ้นถึงสองเท่าจากสามพันคนสูงขึ้นเป็นหกพันคน เลยทีเดียว  และที่น่าสนใจก็คือผู้หญิงเมียนมาก็ตื่นตัวอย่างมากจากเดิมเคยมีผู้หญิงสมัครเพียงแค่ร้อยคนเศษๆ คราวนี้มี ผู้หญิงสมัครสูงถึง 800 คนเลยทีเดียว

คนที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งคือคนเมียนมาที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปและได้ไปลงทะเบียนแสดงความต้องการจะเลือกตั้ง ส่วนคนเมียนมาที่อยู่ต่างประเทศที่จะมีสิทธิลงคะแนนล่วงหน้าได้นั้นจะต้องเป็นคนที่ไปทำงานต่างประเทศ โดยได้รับ อนุญาตจากรัฐบาลเมียนมาเท่านั้น ด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้คนงานเมียนมานับล้านคนที่มาทำงานในประเทศไทย ซึ่งเกือบ ทั้งหมดมาโดยไม่มีเอกสารอนุญาตจากรัฐบาลเมียนมาจึงไม่มีสิทธิลงคะแนนล่วงหน้า ไม่เหมือนคนเมียนมาที่ ไปทำงาน ในสิงคโปร์ซึ่งมีใบอนุญาตมากกว่า คนเมียนมาในสิงคโปร์จึงออกมาลงคะแนนล่วงหน้ากันนับหมื่นคน ขณะที่ในเมือง ไทย มีคนเมียนมาที่มีสิทธิลงคะแนนเพียงแค่หลักร้อยคนเท่านั้นเอง

หน่วยเลือกตั้งในเมียนมานั้นจะเปิดให้ลงคะแนนซึ่งเปิดตั้งแต่เช้าตรู่เลยนะครับคือเปิดกันตั้งแต่ 06.00 น.จนถึง 16.00 น. นานถึง 10 ชั่วโมง ผู้มีสิทธิจะต้องแสดงบัตรประชาชนพร้อมบัตรลงทะเบียนแสดงความจำนงจะเลือกตั้ง และก่อนหน้าที่ จะรับบัตรเลือกตั้งจะต้องปั๊มนิ้วมือ ที่พิเศษออกไปคือปีนี้เป็นปีแรกที่การเลือกผู้สมัครนั้นต้องใช้ “ตราประทับ” ซึ่ง คณะกรรมการจัดการเลือกตั้งเตรียมเอาไว้ตามคูหาต่างๆ รักชอบพรรคไหนก็เอาตราประทับกดลงไปเลย เลือกเสร็จก็เอา บัตรเลือกตั้งหย่อนหีบบัตรซึ่งเป็นกล่องพลาสติคเกือบใสแต่ก็มีการซีลปิดให้สนิทป้องกันการโกงอีกด้วย เมื่อหย่อน บัตรเลือกตั้งเสร็จผู้ใช้สิทธิจะต้องเอานิ้วก้อยมาจุ่มหมึกสีม่วงที่ล้างออกได้ยากเพื่อป้องกันการเวียนเทียนมาลงคะแนน

และที่โลกยกย่องก็คือ การเลือกตั้งคราวนี้เมียนมาเปิดโอกาสให้ผู้สังเกตการจากทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมสังเกตการ กระบวนการจัดการเลือกตั้งและการนับคะแนน ซึ่งจะนับกันทันทีหลังปิดหีบที่หน่วยเลือกตั้งเมื่อนับเสร็จจะมีการบันทึก ชื่อผู้ร่วมสังเกตการการนับคะแนนไว้ที่ใบบันทึกคะแนนอีกด้วย จึงอาจบอกได้ว่าการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้เมียนมาทำได้ เป็นระบบและโปร่งใสมากยิ่งขึ้น  แม้จะมีเสียงนินทารัฐบาลอยู่เรื่องกระบวนการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็เป็น เรื่องธรรมดา ส่วนเรื่องการแจกจ่ายข้าวของนั้นเพื่อจูงใจให้คนมาลงคะแนนให้นั้น ผมว่าทุกพรรคการเมืองต่างก็ทำ เหมือนๆ กันทั้งนั้น

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งสามระดับพร้อมๆกันคือการเลือกสมาชิกสภาแห่งชาติหรือสภาสูงจำนวน 168  คนซึ่ง จะเลือกตามรัฐและพื้นที่ทั้งหมด 14 เขต เขตละ 12 คน แต่จะมีสมาชิกสภาแห่งชาติอีก 56 คนที่จะ มาจากการแต่งตั้งของ กองทัพ รวมสมาชิกสภาแห่งชาติทั้งสิ้น 224 คน ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นจะมีการเลือกตั้งจำนวน 330 คน แบ่ง ตามเขตพื้นที่ทั้งหมด 330 เขต เขตละหนึ่งคนและจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก 110  คนที่จะมาจาก การแต่งตั้งของ กองทัพเช่นกัน รวมมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 440 คน ส่วนการเลือกประเภทที่สามคือการเลือกสมาชิกสภา ท้องถิ่นอีก  673 ซึ่งแน่นอนว่ากองทัพก็มีสิทธิแต่งตั้งสมาชิกประเภทนี้อีกจำนวนหนึ่งเช่นกันแต่สมาชิกสภา ประเภทนี้ไม่มีส่วนในการเลือกประธานาธิบดี ผู้คนเลยไม่ค่อยสนใจสมาชิกสภาประเภทนี้เท่าไรนัก

การทำโพลล์ในเมียนมาเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ก่อนการเลือกตั้งเราจึงไม่มีโอกาสรู้ว่าพรรคไหนมีคะแนนนิยมเท่าใด แต่ดูจากการที่ผู้คนออกมาฟังการปราศัยของ “ด่อว์อองซานซูจิ” และจากการนับคะแนนจนถึงนาทีที่เขียนต้นฉบับนี้ ก็ดูเหมือนว่าพรรค NLD ของเธอน่าจะได้เก้าอี้มากกว่า 67 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและ สมาชิก สภาแห่งชาติที่มีการเลือกตั้ง รวมกันคือ 168 + 330 = 498 การที่พรรค NLD ได้มากกว่า 67 เปอร์เซ็นต์ของ 498 ที่นั่งนั่น หมายความว่าพรรคจะมีที่นั่งเกินครึ่งหนึ่งของสภาซึ่งมีทั้งหมด 664  ที่นั่งเมื่อรวมสมาชิกประเภทที่แต่งตั้งมาโดยกองทัพ อีก 166 ที่นั่งแล้ว ทำให้พรรคมีโอกาสเสนอชื่อและชนะการโหวตเลือกคนที่จะมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ได้

สภาชุดปัจจุบันของเมียนมาจะหมดอายุในปีหน้าคือวันที่ 30 มกราคม ดังนั้นสภาชุดใหม่จะเริ่มทำงาน และเลือก ประธานาธิบดีคนใหม่หลังจากวันนั้น โดยมีขั้นตอนการเลือกเป็นดังนี้ คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง 330 คน มีสิทธิเสนอรายชื่อว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ได้ 1 คน สมาชิกสภาแห่งชาติที่มาจากการเลือกตั้ง 168 คน เสนอได้ 1 คน และสมาชิกทั้งสองสภาที่ทหารแต่งตั้งเข้ามาก็จะมีสิทธิเสนอได้อีก  1 คน รวมแล้วจะมีผู้เข้ารับการโหวตเป็น ประธานาธิบดี 3 คน หลังจากนั้นสมาชิกทั้งสองสภาทั้งหมด 664 คน (ซึ่งอาจจะยังมีไม่ครบเพราะบางเขตยังไม่ได้ จัดให้มีการเลือกตั้งเพราะความไม่สงบ) จะได้ลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีจาก 3 คนข้างต้น คนที่ได้คะแนนสูงสุดก็จะ ได้เป็นประธานาธิบดี ส่วนอีกสองคนก็จะได้เป็นรองประธานาธิบดี

รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดของเมียนมาซึ่งแก้ไขใหม่ในปี พ.ศ. 2551 ได้เขียนปิดทางไม่ให้ผู้ที่มีครอบครัวเป็นต่างชาติ ไม่ให้มาเป็นประธานาธิบดีได้ ด่อว์อองซานซูจิ จึงไม่มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานาธิบดีอย่างแน่นอน ต้องเป็น “ผู้มีอำนาจเหนือประธานาธิบดี”  อย่างที่เธอได้ประกาศไปแล้ว

ตัวแทนที่คาดกันว่าพรรค NLD  จะส่งเข้าประกวดมีหลายคน แต่ผมว่าคนที่มีลุ้นมากที่สุดคือ อู เหงี่ยน วิน ( U Nyan Win) โฆษกพรรค  อายุ 73 ซึ่งเคยเป็นอัยการเก่า ปัจจุบันทำหน้าที่นักกฎหมายว่าความช่วย ด่อว์อองซานซูจิ และสมาชิกพรรค NLD มาโดยตลอด ส่วน อู  ติ่น อู (U Tin Oo) ซึ่งเป็นรองประธานพรรคนั้นผมว่าอายุ 89  ปีของเขาเป็นอุปสรรค ขณะที่อู วิน เทน (U Win Htein) ซึ่งมีอายุ 74 ปีก็มีปัญหาสุขภาพ ส่วน อู ฉ่วย มาน (U Shew Mann) อดีตประธานพรรค USDP และประธานสภาฯ ที่โดนพรรค USDP  ปลดกระทันหันเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเพราะเขาไปแสดงท่าที อยากจะเป็น ประธานาธิบดีเสียเอง แล้วจะส่งไม้ต่อให้ ด่อว์อองซานซูจิ หลังแก้รัฐธรรมนูญเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามของ ด่อว์อองซานซูจิ เรียบร้อย  ผมว่าหลังจากเขาถูกปลด บารมีก็หมดแล้ว

ตัวแทนของพรรค USDP ซึ่งสมาชิกสายที่มาจากการแต่งตั้งน่าจะเสนอชื่อ อู เท่ อู (U Htay Oo) คนสนิทของประธานาธิบดี อู เต็ง เส่ง (U Thein Sien)  ซึ่งปัจจุบันรับตำแหน่งเป็นประธานพรรคแทน อู ฉ่วย มาน ที่โดนปลดไป คนนี้ผมว่ามีสิทธิ มากกว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนปัจจุบันที่หลายคนเชียร์คือ อู มิน อ่อง หล่าย (U Min Aung Hliaing) ซึ่งอายุยังน้อยอยู่ คืออายุเพียง 59 ปี เท่านั้นเอง อู มิน อ่อง หล่าย คนนี้เป็นทหารใหญ่ที่มีประวัติน่าสนใจมากเพราะ เพราะเขาสนิทกับทหาร ใหญ่ของไทยหลายคน ที่สำคัญเขาเคารพพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นอย่างยิ่งถึงกับขอเป็นบุตรบุญธรรมเลยทีเดียว

ผมสอบถามเพื่อนเมียนมาหลายอาชีพหลายคน ส่วนใหญ่บอกตรงกันว่าอยากเห็นการบริหารประเทศต่อเนื่องแบบที่ รัฐบาลประธานาธิบดี อู เต็ง เส่ง บริหารมาเพราะเห็นได้ชัดเจนว่าบริหารได้ดี ประเทศมีการเจริญก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัด แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็อยากเห็นผู้นำในรัฐบาลมีจิตวิญญาณประชาธิปไตยแบบ ด่อว์อองซานซูจิ ดังนั้นหากทั้ง สองฝ่ายนั่งเจรจาปรองดอง ช่วยกันบริหารประเทศต่อไปได้ คนเมียนมาทั้งประเทศน่าจะมีความสุขกว่าใครๆ

หลายคนถามผมว่าการคนเมียนมาออกมาเลือกพรรค NLD เยอะขนาดนี้ทำให้บทบาทกองทัพในเมียนมาลดลงไปหรือไม่ คำตอบคือบทบาทกองทัพจะยังคงมีสูงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะในการบริหารประเทศนั้น การโยกย้ายแต่งตั้งทหาร นั้นกองทัพคุมกันเอง รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญเช่น กลาโหม มหาดไทย และกิจการชายแดน นั้นแต่งตั้งโดยกองทัพ ประธานาธิบดีไม่มีสิทธิ ตำแหน่งบริหารองค์กรในระดับท้องถิ่นเกือบทั้งหมดแต่งตั้งโดยกองทัพ ดังนั้นแม้ด่อว์อองซาน ซูจิจะชนะการเลือกตั้งและมีอำนาจเหนือประธานาธิบดี ก็จะต้องบริหารประเทศแบบถนอมน้ำใจกับกองทัพกันไป

ถามต่อว่าถ้างั้นไปแก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดบทบาทกองทัพทำได้ไหม? คำตอบคือยากมากถึงมากที่สุด เพราะการแก้ไข รัฐธรรมนูญจะต้องใช้เสียงเกิน 75 เปอร์เซ็นต์ในสองสภาให้โหวตเห็นชอบ แต่ 25 เปอร์เซ็นต์ของสภานั้นมาจากการ แต่งตั้งโดยกองทัพเสียแล้ว ตราบใดที่ พรรค NLD ไม่ชนะการเลือกตั้งครบทุกที่นั่ง และไม่มีทหารในสภาหักหลังกองทัพ การโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำไม่ได้เลย ด่อว์อองซานซูจิ เป็นคนฉลาด ฉลาดพอๆ กับกองทัพเมียนมายุคใหม่ ผมเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายน่าจะปรองดองและร่วมกัน บริหารประเทศไปได้ครับ อาจจะราบรื่นและไปได้ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านด้วยซ้ำไป

[smartslider3 slider="9"]