PERSPECTIVE OF AEC – ปราบคอร์รัปชั่นแบบฮ่องกง

0
483

ฉบับนี้ขอพาออกไปนอก AEC หน่อยนะครับ แต่ไม่ไปไหนไกล ไปกันแค่ฮ่องกงเพราะที่นั่นเขาปราบคอร์รัปชั่นได้ดี น่าที่เราน่าจะไปศึกษาดูกันหน่อยครับ

เมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้ว ฮ่องกงก็มีปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นหนักเหมือนๆเมืองไทยเรานี่นะครับ แต่ล่าสุดผลการจัดอันดับเรื่องภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นขององค์กรความโปร่งใสโลก ปรากฎว่าฮ่องกงเขาได้ที่ 15 ได้คะแนน 75 คะแนนจากคะแนนเต็ม  100 คะแนน ดีเป็นที่ 2 ของเอเชีย เป็นรองเฉพาะสิงคโปร์เท่านั้นที่ได้ที่ 5 และได้ 86  คะแนนส่วนไทยเราได้ที่ 102 ร่วงลงมาจากอันดับที่ 88 และได้คะแนนเพียง 35 คะแนน

ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2517 คนที่เริ่มแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่นในฮ่องกงเป็นคนอังกฤษชื่อ ครอว์ฟรอด เมอร์เรย์ แมคเลอโฮส ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่เกาะฮ่องกงในขณะนั้น แมคเลอโฮส ได้จัดตั้งองค์กรอิสระ เพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่นที่ชื่อว่า  Independent Commission Against Corruption หรือ ICAC   โดยกำหนดให้หน่วยงานนี้ขึ้นตรงกับเขาเพียงคนเดียว

ตอนจัดตั้ง ICAC ใหม่ๆ ใครๆก็ขันเพราะฮ่องกงตอนนั้นเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น ถ้าเคยดูหนังมาเฟียฮ่องกง ที่มีแต่คนโกง ตำรวจโกง นั่นแหล่ะครับภาพการคอร์รัปชั่นจริงในฮ่องกง แมคเลอโฮสเลยมีนโยบายที่ชัดเจน ตั้งแต่ก่อตั้งเลยว่าจะไม่เอาเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาทำงานใน ICAC แต่ตั้งใจที่รับสมัครเอาเฉพาะคนที่ตั้งใจ จะมาช่วยกันปราบคอร์รัปชั่น

เวลามาสมัครงาน เขาจะสัมภาษณ์และตรวจสอบเจาะลึกไปถึงประวัติครอบครัวว่าสะอาดมั้ย ทัศนคติเรื่อง การคอร์รัปชั่นเป็นอย่างไร สัมภาษณ์และตรวจสอบกันจนแน่ใจว่าคนที่เขาจะรับนั้นรังเกียจการคอร์รัปชั่น และมีความตั้งใจที่จะเข้ามาช่วยกันปราบคอร์รัปชั่นจริงๆ เรื่องความสามารถในการสืบสวนสอบสวนหาคนโกง นั้น แมคเลอโฮสบอกว่าไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานมาก่อนเลยเพราะ เขาจะหาคนมีฝีมือด้านนี้มาฝึกฝนให้เอง

องค์กรต้านคอร์รัปชั่นทั่วโลกมีหน้าที่หลักๆ สามหน้าที่ด้วยกันนะครับคือ ป้องกันไม่ให้เกิดการคอร์รัปชั่น ปราบรามและจับกุมคนคอร์รัปชั่นและสุดท้ายคือรณรงค์ให้ประชาชนมีจิตสำนึกต่อต้านการคอร์รัปชั่น

ICAC เขาชัดเจนมากครับว่าถ้าเขาไม่สามารถจับคนโกงที่มีอยู่เต็มฮ่องกงให้เห็นเป็นเยี่ยงอย่างก่อนละก้อ ไม่มีทางที่คนฮ่องกงจะร่วมมือกับเขาในการปราบปรามคอร์รัปชั่นแน่ ICAC เลยตะลุยจับคนโกงอย่าง เอาจริงเอาจัง เชื่อมั้ยครับสองสามปีแรกของการเริ่มทำงาน ICAC เขาสามารถจับกุมคนโกงได้เป็นร้อยๆราย จะมีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โตแค่ไหนหรือเป็นตำรวจ ICAC เขาก็ไม่สนจับแหลกเลยครับ

นอกจากความตั้งใจจริงที่จะจับคนโกงมาลงโทษแล้ว การสืบสวนหาข่าวโดยเจ้าหน้าที่ ICAC นอกเครื่องแบบ เป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จในการทำงานช่วงแรกๆ น่าสนใจมากนะครับเอาคนธรรมดาที่ไม่ใช่ตำรวจ มาฝึกฝนการสืบหาข้อมูลในทางลับจนสามารถจับตำรวจโกงมาเข้าคุกได้

ICAC ให้เงินเดือนเจ้าหน้าที่ของเขาสูงกว่าเงินเดือนของข้าราชการและตำรวจทั่วไป แต่คำว่าสูงนี่ไม่ได้สูง กว่ามากมายอะไรนะครับ ก็แค่สูงเพียงพอที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ของเขามีความเป็นอยู่อย่างเหมาะสมนะครับ

การให้เงินเดือนที่สูงกว่าแก่ผู้มีหน้าที่ปราบปรามคอร์รัปชั่น หรือ ข้าราชการ ทหารและตำรวจ เพียงอย่างเดียว นั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นได้นะครับ ต้องย้ำไว้ตรงนี้ก่อน เพราะเขามีการศึกษาเรื่องนี้ในหลาย ประเทศมาแล้วว่าการให้เงินเดือนสูงๆ เพียงอย่างเดียวเพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ไม่ไปคอร์รัปชั่นนั้น จะไม่มีทางสำเร็จ ถ้าไม่ทำกฎระเบียบต่างๆให้โปร่งใส ให้ง่ายสำหรับประชาชนที่จะเข้าใจ ลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ และมีระบบตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่มีประสิทธิภาพ มีบทลงโทษที่ชัดเจน ถ้าหากเจ้าหน้าที่ที่เป็น คนปราบคอร์รัปชั่นนั้นกลายเป็นคนโกงเสียเองบทลงโทษจะต้องแรงกว่าเจ้าหน้าที่อื่นๆทั่วไป

เงินเดือนที่สูงกว่าต้องมาพร้อมกฎระเบียบที่โปร่งใสและจิตสำนึกที่สูงส่ง สายสืบบางคนของ ICAC เผลอตัวเผลอใจเพลิดเพลินไปหน่อยกับการที่ปล่อยให้ธุรกิจเลี้ยงดูปูเสื่อ พอสายสืบด้วยกันเห็นความผิดปรกติ แม้จะเพิ่งเริ่ม พวกเขาก็จัดการสืบหาหลักฐานและจัดการ จนเจ้าหน้าที่ผู้นั้นจนต้องรับโทษในที่สุด

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ICAC ไปรับประทานอาหาร แต่ว่าค่าอาหารเกินงบประมาณที่ตัวเองจะเบิกได้ เลยทำการ “แตกใบเสร็จ” เป็นสองใบจะได้ไม่เกิน พอเรื่องแบบนี้ล่วงรู้ถึงสื่อมวลชน ICAC แทบแตกเลยนะครับ ที่ฮ่องกงวันนี้ เรื่องแบบนี้เขาถือว่า “รับไม่ได้”

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ ICAC ประสบความสำเร็จโดยเฉพาะในช่วงแรกซึ่งเป็นตอนที่ยากลำบากที่สุด เพราะในตอนนั้นโกงกันทั้งเกาะ ก็คือความตั้งใจที่แน่วแน่ของแมคเลอโฮสว่านอกจากตัวเองจะไม่โกงแล้ว ยังต้องปราบปรามคนโกงและจับกุมมาลงโทษให้ได้ ไม่ว่าคนโกงคนนั้นจะเป็นใคร ใหญ่โตแค่ไหน

ประเทศที่มีปัญหาการคอร์รัปชั่นหนักๆมาก่อนแล้วปราบสำเร็จนี่ ความตั้งใจจริงของผู้บริหารสูงสุด ของประเทศในการปราบคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดนะครับ ฮ่องกงทำได้สำเร็จก็เพราะข้าหลวงใหญ่ ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของเกาะเอาจริงเอาจัง สิงคโปร์และเกาหลีใต้ก็เหมือนกัน สองประเทศนี้ก็เคยมีปัญหา การคอร์รัปชั่นหนักหนาสาหัสสูสีกับไทยเรา วันนี้เขาแก้ไขได้ก็เพราะประธานาธิบดีของสองประเทศนี้เอาจริง เอาจัง ตั้งใจที่ตัวเองจะไม่โกงและตั้งใจที่จะจับปรายคนโกงให้ได้

อีกเรื่องที่หลายประเทศเขาทำและได้ผลก็คือ เขาไม่เกรงใจครอบครัวและญาติมิตรของคนโกงครับ ใครโกงแล้วโดนจับได้ นอกจากจะโดนลงโทษอย่างหนักแล้วเขายังไม่เกรงใจที่จะแฉให้คนในประเทศ ให้รู้กันทั่วๆไปเลย ลูกเมียจะอายก็เป็นเรื่องที่สมควร บางกรณีคนโกงอายเอง ผูกคอตายก่อนจะโดนศาลตัดสินก็มี

เมื่อจับคนโกงมาลงโทษให้ประชาชนเห็นได้แล้ว ICAC ถึงเริ่มให้น้ำหนักกับการรณรงค์ ซึ่งคนฮ่องกงพอเห็นว่า ใครโกงแล้วชีวิตจบไม่สวยแน่ วิธีคิดก็เริ่มเปลี่ยนไป การรณรงค์ของ ICAC จึงได้ผลเพราะคนฮ่องกงร่วมมือเต็มที่

ตำรวจฮ่องกงจากที่เคยเป็นตำรวจที่มือไม่สะอาด วันนี้ก็เปลี่ยนไปกลายเป็นตำรวจที่มือสะอาด มีภาพลักษณ์ดี ใครไปเที่ยวฮ่องกงวันนี้คงจะเห็นตำรวจฮ่องกงเดินตรวจตราความเรียบร้อยอย่างสุภาพ แต่งเนื้อแต่งตัวสะอาดสะอ้าน หุ่นทะมัดทะแมงสมเป็นตำรวจทุกคน

เมืองไทยเราจะรอหวังพึ่งนายกรัฐมนตรีที่มือสะอาดและกล้าปราบคอร์รัปชั่นคงจะอีกนาน เพราะระบบการเมืองแบบปัจจุบันยังไม่เปิดโอกาสให้คนดีมีความสามารถและมือสะอาดเข้ามาสู่วงจรอำนาจได้ ผมว่าเราต้องหวังและภาวนาให้ ปปช.ของเราซึ่งเป็นองค์กรอิสระและมีอำนาจเต็ม ในการปราบปรามคอร์รัปชั่น เลิกเกรงใจคนโกง ตื่นขึ้นมาเอาจริงเอาจังในการปราบปรามคอร์รัปชั่นเสียที

[smartslider3 slider="9"]