Amazing AEC – เปิดตลาดอาเซียน

0
727


วันพฤหัสบดีที่ 25 จนถึงวันที่ 27 มกราคมที่จะถึงนี้ผมจะพาคณะลูกค้าและผู้บริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือที่คนส่วนใหญ่ชอบเรียกชื่อย่อ “ธ.ก.ส.” ไปสำรวจตลาดกัมพูชาเพื่อศึกษาหาลู่ทางส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปของไทยไปขายที่นั่นตามโครงการ “ธ.ก.ส.เดินหน้าเปิดตลาดอาเซียน” ซึ่งธ.ก.ส.ได้จัดสัมมนาร่วมกับ FM 100.5 มาสองปีแล้วแต่เพิ่งจะเริ่มจัดทริปเดินทางในปีนี้
ประสบการณ์ของผมในการจัดทริปเดินทางไปในอาเซียนโดยเฉพาะใน CLMV กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาและเวียดนามนั้นผมพบว่าคนไทยเรารู้จักเพื่อนบ้านน้อยมาก และเมื่อได้รู้จักเพื่อนบ้านในทุกๆ มุมที่ผมและวิทยากรของ FM 100.5 เล่าให้คณะผู้เดินทางฟังตลอดระยะเวลาที่ไปดูงาน ไม่ว่าจะเห็นอะไรก็ตาม เช่นเห็นคนกัมพูชาขับรถย้วยกันไปย้วยกันมาเต็มถนน เห็นคนเวียดนามที่ขี่มอเตอร์ไซค์ไปบีบแตรไปดังลั่นทั้งเมือง หรือเห็นคนเมียนมายังชอบนุ่งโสร่งกันอยู่ เรื่องต่างๆ เหล่านี้ หากดูด้วยสายตานักท่องเที่ยวทั่วไปก็จะไม่ค่อยเห็นอะไร หรือบางคนอาจจะแอบนึกขำหรือดูถูกเพื่อนบ้านด้วยซ้ำ
แต่พอพวกผมอธิบายที่ไปที่มาของเรื่องต่างๆ เหล่านั้น ผมพบว่าทัศนคติของคณะที่มีต่อเพื่อนบ้านจะเปลี่ยนไปทันที เช่น การที่คนกัมพูชาเขาขับรถย้วยกันไปย้วยกันมาล้ำเลนกันจนดูน่าเวียนหัวนั้น หากดูดีๆจะเห็นว่าเขาขับรถกันแบบมีน้ำใจ ถ้อยทีถ้อยอาศัยแบ่งๆ กันไปอย่างที่คนไทยไม่ทำกันแล้ว ทำให้เขาสามารถเดินทางไปกันได้แม้การจราจรจะค่อนข้างติดขัด ซึ่งถ้าหากเราขับรถหรือขี่มอเตอร์ไซค์แบบนั้นในเมืองไทยคนขับขี่ถ้าไม่ตายก็เลี้ยงไม่โตโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ

Amazing AEC - เปิดตลาดอาเซียน


ไฮไลท์ของการเดินทางที่ผมเน้นอย่างมากก็คือ การพาไปทานอาหารท้องถิ่นที่อร่อยจริงๆ ต้องเน้นคำว่าอร่อยจริงๆ ก่อน เพราะจากประสบการณ์ที่ผมเดินทางไปทั่วอาเซียนนั้นเลยทำให้ผมค้นพบอาหารอร่อยจริงๆ ของประเทศเพื่อนบ้านและเป็นความอร่อยที่ถูกปากคนไทยด้วย ใครไม่เชื่อก็ลองไปถามคณะผู้บริหาร PTTGC บ.พีทีที โกลบอล เคมิคัล จำกัด (มหาชน) ดูก็ได้ครับว่าอาหารเวียดนามและอาหารเมียนมาที่ผมพาไปทานนั้นอร่อยจริงหรือไม่? และร้านส่วนใหญ่ที่ผมพาไปทานนั้นทัวร์ทั้งหลายไม่รู้จัก ถึงรู้จักถ้าไปจองแบบทัวร์เขาก็ไม่รับครับ ถึงจองได้แต่สั่งไม่เป็นก็ไม่อร่อยอีก
ที่ผมเน้นการเล่าเรื่องชีวิต วัฒนธรรม และการพาไปทานอาหารอร่อยๆ ของแต่ละชาตินั้นก็เพราะผมต้องการให้คณะผู้ร่วมเดินทางได้รู้จักประเทศที่เราไปดูงานอย่างถูกต้องและลึกซึ้ง ซึ่งเมื่อเรารู้จักและเข้าใจเพื่อนบ้านเราอย่างถูกต้องเราก็จะรักเพื่อนบ้านเรามากขึ้น เมื่ออยากจะไปลงทุนหรือไปค้าขายเราก็จะประสบความสำเร็จ PTTGC เป็นตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้
คำถามที่ผมโดนถามมากกับทริปของธกส.ครั้งนี้ก็คือแล้วเกษตรกรไทยจะเอาอะไรไปขายกัมพูชา เพราะที่นั่นก็ปลูกและแปรรูปสินค้าเกษตรได้คล้ายๆ เราไม่ใช่หรือ? จริงครับที่กัมพูชาและประเทศเพื่อนบ้านเราล้วนแต่เพาะปลูกพืชผักผลไม้ได้คล้ายๆ เรา แถมสินค้าเกษตรแปรรูปหรือสินค้าหัตถกรรมก็คล้ายคลึงกับเรา แต่ผมมองเรื่องนี้ต่างมุมว่าเพราะเขาเพาะปลูกได้คล้ายๆ เรานี่แหล่ะที่เป็นโอกาสที่เกษตรกรไทยจะขายของได้
ลองนึกถึงความรู้สึกเราสิครับ เวลาเราเดินทางไปต่างประเทศแล้วเห็นผลไม้หรือพืชผักที่ไทยเราก็ปลูกได้ เรายังนึกอยากจะลองซื้อชิมดูเลยว่าของเขากับของเราของใครอร่อยกว่ากัน คนกัมพูชาก็เช่นเดียวกันครับย่อมอยากจะลองชิมของไทย เหมือนกันว่าแตกต่างจากของเขามั้ย ถ้าของไทยอร่อยกว่าก็จะสามารถขายกันได้ยาวๆ เลยทีเดียว นี่ยังไม่รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกปีละ 5 ล้านคนที่มาเที่ยวกัมพูชาซึ่งส่วนมากก็จะมาเที่ยวไทยก่อนจะไปกัมพูชา นักท่องเที่ยวเหล่านี้ซึ่งเคยได้ทานของไทยก็ย่อมติดใจอยากจะทานผักผลไม้ของไทยอีกเช่นกัน
แล้วคนกัมพูชาจะมีเงินมาซื้อของไทยหรือ? เขาจนกว่าเราไม่ใช่หรือ? สินค้าของไทยที่จะขายในกัมพูชานั้นลูกค้าส่วนใหญ่คือคนฐานะปานกลางถึงฐานะดีที่นั่นครับ ซึ่งพวกเขามีกำลังซื้อมหาศาลแถมกล้าใช้สตางค์เสียด้วย ขอให้ของที่จะเอาไปขายเป็นของดีที่สุดเท่านั้นเอง ถ้าเป็นของดีจริงรับรองขายให้คนกัมพูชาได้แน่นอน ไม่เชื่อลองไปถามร้านขายของแบรนด์เนมของห้างดังๆ ในกรุงเทพฯ สิครับว่าคนกัมพูชาที่เขารวยๆ นั้นเวลาเขามาช้อปปิ้งนั้น เขาช้อปปิ้งกันดุเดือดขนาดไหน?

[smartslider3 slider="9"]