Amazing AEC – บ้านพี่เมืองน้อง

0
486

อาทิตย์ที่แล้วผมเขียนบอกว่าเพื่อนสปป.ลาวเขาน้อยใจคนไทยมากๆ ที่เราเอาภาษาลาวผิดๆ มาล้อ ทั้งที่เขาไม่ได้พูดอย่าง ที่เราเข้าใจ อาทิตย์นี้ผมจะเล่าต่อว่ามีอีกเรื่องสำคัญที่ทำให้เพื่อนสปป.ลาวรักคนไทยน้อยลงอย่างมาก

คนไทยเราเวลาเรียก สปป.ลาว มักจะติดคำว่า  “บ้านพี่เมืองน้อง” เป็นคำสร้อยเสมอๆ ว่าพวกเราเป็นบ้านพี่เมืองน้องกัน คำๆนี้นี่เพื่อน สปป.ลาวไม่ชอบเลยนะครับ และไม่ใช่ว่าเขาไม่ชอบที่คนไทยพูดหรอกนะครับ คนชาติไหนมาพูดเขาก็ ไม่ชอบทั้งนั้น เพราะคนสปป.ลาวเป็นคนที่มีความคิดว่าคนทั้งโลกล้วนแต่เท่าเทียมกัน เสมอกัน ไม่มีใครเป็นพี่ ไม่มีใครเป็นน้อง เป็นเพื่อนกันหมด ถ้าจะยอมให้เป็นพี่ก็จะมีชาติเดียวเท่านั้นคือเวียดนามเพราะเคยมาช่วยกอบกู้เอกราชให้

เวลาพักทานข้าวกลางวันใน สปป.ลาว การที่เจ้านายหรือเจ้าของบริษัทจะลงมานั่งทานข้าวกลางวันกับลูกน้องถือเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะเห็นได้บ่อยๆ เพราะเจ้าของหรือเจ้านายที่นั่นเขาจะคิดว่าลูกน้องก็คือเพื่อนร่วมงานที่มีศักดิ์ศรีเท่าๆ กับ เจ้านายหรือเจ้าของดังนั้นการนั่งทานข้าวด้วยกันจึงเป็นเรื่องปรกติที่ควรทำบ่อยๆ

ถ้ามีงานมงคล เช่นงานแต่งงาน ประธานในพิธีไม่ว่าจะใหญ่โตสักแค่ไหน หรือมียศถาบรรดาศักดิ์สูงสักปานใด เมื่อเสร็จสิ้นพิธีการ เราจะเห็นประธานในพิธีลุกขึ้นมารำวงร่วมกับคนในงานอย่างไม่ถือตัว ถ้าไม่ใช่การรำวงก็จะเป็นการเต้น บั๊ดสโล้ป ซึ่งปัจจุบันดูเหมือนจะเป็นการเต้นรำประจำชาติ สปป.ลาวไปเสียแล้ว

การเต้นบั๊ดสโล้ป ซึ่งเป็นการเต้นรำพร้อมๆ กัน มีการเดินหน้าถอยหลัง หันซ้ายหันขวาพร้อมๆ กันนั้น มีหลายระดับนะครับ ทั้งแบบง่ายๆ แบบซับซ้อน แถมยังมีทั้งแบบช้าและเร็ว จะเร็วขนาดเอาเพลงดิสโก้มาเต้นบั๊ดสโล้ปก็ยังมี การเต้นบั๊ดสโล้ป นี่สวยงามมากเพราะทุกคนจะเต้นพร้อมเพรียงกัน หมุนซ้ายหมุนขวาเดินหน้าถอยหลังพร้อมๆ กัน เพราะคนสปป.ลาวเขา จะฝึกเต้นกันตั้งแต่เด็กๆ เมื่อมางานมงคลหรืองานเลี้ยง เมื่อเสร็จสิ้นพิธีการคนสปป.ลาวจะเดินมาด้านหน้าเวทีเพื่อเต้นบั๊ดสโล้ปร่วมกัน

การเต้นบั๊ดสโล้ปนี่ก็เป็นหลักฐานทางวัฒนธรรมอีกชิ้นหนึ่งที่สะท้อนให้เราเห็นว่าคนสปป.ลาวทุกๆ คนเขาถือว่าเท่าเทียมกัน เพราะการเต้นบั๊ดสโล้ปต้องเต้นเป็นทีม ต้องเต้นพร้อมกัน จะใหญ่โตมาจากไหนก็ต้องเต้นจังหวะเดียวกันพร้อมๆ กัน

ที่น่าอะเมซิ่งก็คือในกัมพูชาก็จะมีวัฒนธรรมคล้ายๆ กับ สปป.ลาวนะครับ เพราะหลังงานเลี้ยงทั้งหลาย เขาก็จะมีการรำวง เต้นรำและการเต้นบั๊ดสโล้ปเหมือนกัน โดยเฉพาะงานแต่งงานนี่การรำวงเต้นรำหลังพิธีการนี่ขาดไม่ได้เลย แต่ที่แตกต่าง กันก็คือในกัมพูชาการเต้นรำนั้นจะเป็นเรื่องความบันเทิงของผู้หลักผู้ใหญ่เป็นส่วนมาก คนทั่วไปมักไม่กล้าเข้าไปร่วมรำวง กับผู้ใหญ่มากนัก ส่วนในสปป.ลาวนั่นถ้าสถานที่กว้างขวางพอ เราจะเห็นทุกคนในงานออกมาเต้นเลยทีเดียว

การที่คนไทยเราติดปากคำว่า “บ้านพี่เมืองน้อง” โดยมีนัยยะว่าไทยเป็นพี่ สปป.ลาวเป็นน้องนั้นจึงทำให้เพื่อนสปป.ลาว “รู้สึกไม่ดี” กับคนไทยมากๆ ที่สำคัญบางทีเราโดยเฉพาะผู้ใหญ่ในรัฐบาลไม่ได้ติดแค่ปากแต่เราเผลอคิดแบบเราเป็นพี่เขา เป็นน้อง พี่เก่งกว่าน้อง เวลาเราไปประชุมหรือไปช่วยเขา เราก็มักจะหยิบยื่นความช่วยเหลือแบบคิดว่าไทยเราเก่งกว่าเขา เขาพูดอะไรเราก็ไม่ฟัง อยากให้เขาฟังเราข้างเดียวและทำอย่างที่เราพูดหรือแนะนำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเะทศอื่นๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือ สปป.ลาว เขาไม่ได้เข้ามาแบบบ้านพี่เมืองน้อง แต่เขาเข้ามาแบบ “มิตรประเทศ” คือเพื่อนกันจริงๆ การเสนอความช่วยเหลือจึงเป็นไปอย่างมีการรับฟังความเห็นของกันและกัน

เพื่อนสปป.ลาวนั้นรักคนไทยมาแต่ไหนแต่ไร แต่คนไทยเราทั้งชอบพูด “บ้านพี่เมืองน้อง” และชอบเอาภาษาลาวผิดๆ มาล้อเขา เขาเลยน้อยใจจนจัดให้ไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญน้อยที่สุดของเขา เลิกพูดบ้านพี่เมืองน้องและ เลิกล้อเขากันนะครับ จะได้รักกันรักกัน

[smartslider3 slider="9"]