Amazing AEC – จีนคิดใหญ่ มองไกล

0
547

สีจิ้นผิง นับเป็นผู้นำรุ่นที่ 5 ของจีนนับตั้งแต่วันที่สถาปนาเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปีพ.ศ. 2492 ต่อจาก เหมาเจ๋อตุง เติ้งเสี่ยวผิง เจียงเจ๋อหมิน และหูจิ่นเทา

นับจากต้นปี พ.ศ. 2556 ซึ่งสีจิ้นผิงขึ้นดำรงตำแหน่งสูงสุดของประเทศ เขาใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีก็สามารถกุมอำนาจ กุมการนำและกุมใจของคนจีนทั้งประเทศได้อย่างไม่น่าเชื่อ ว่ากันว่าบารมีของสีจิ้นผิงวันนี้น่าจะสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับผู้นำในอดีต นั่นก็เป็นเพราะการปฏิบัติที่เป็นแบบอย่างของเขาในด้านความซื่อสัตย์สุจริต การเอาจริงเอาจังกับการปราบคนโกง ความสามารถในการบริหารประเทศและการมีวิสัยทัศน์ของเขา

วิสัยทัศน์ที่น่าจับตามองมากที่สุดของสีจิ้นผิง ในช่วงนี้ก็คือเรื่อง “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI)” ซึ่งเมื่อตอนครั้งแรกที่สีจิ้นผิงแสดงวิสัยทัศน์เรื่องนี้ในระหว่างการเยือนคาซัคสถานในปีแรกของการเป็นประธานาธิบดี เขาใช้คำว่า “แถบเส้นทางสายไหม” ที่เราคุ้นหูกันในชื่อภาษาอังกฤษว่า One Belt One Road นั่นเอง

รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนที่หาคนเปรียบได้ยากคนหนึ่งของไทยได้เขียนหนังสือชื่อ “ The Rise of China จีนคิดใหญ่ มองไกล” เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจและอ่านเข้าใจง่าย ผมจึงขอสรุปบางเรื่องมาแบ่งปันกันตรงนี้ เท่าที่พื้นที่จะอำนวย

ที่โลกสนใจ BRI ก็เพราะมีประเทศเข้ามาร่วมมากถึง 70 ประเทศและอีกหลายเขตเศรษฐกิจ รวมประชากรทั้งหมดมากถึง 4,400 ล้านคน มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งโลก ขณะที่ขนาดพื้นที่รวมสูงเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของโลก และขนาดของเศรษฐกิจ GDP เปอร์เซ็นต์

ใน BRI จะมีระเบียงเศรษฐกิจอยู่ 6 ระเบียงได้แก่ 1 ระเบียงเศรษฐกิจจีน มองโกเลีย รัสเซีย 2 ระเบียงเศรษฐกิจสะพานเชื่อมยูเรเชียใหม่ ซึ่งระเบียงนี้จะมีรถไฟเชื่อมจากจีนถึงยุโรป 3 ระเบียงเศรษฐกิจจีน เอเชียกลาง เอเชียตะวันตก ซึ่งระเบียงนี้คือแนวเส้นทางสายไหมโบราณ 4 ระเบียงเศรษฐกิจจีน ปากีสถาน 5 ระเบียงเศรษฐกิจบังคลาเทศ จีน อินเดีย เมียนมา ซึ่งจะเป็นระเบียงเศรษฐกิจสำคัญของโลกถ้าจีนและอินเดียสามารถร่วมมือกันได้อย่างจริงจัง และ 6 ระเบียงเศรษฐกิจจีน คาบสมุทรอินโดจีน

ระเบียงเศรษฐกิจจีน คาบสมุทรอินโดจีน เป็นระเบียงเศรษฐกิจที่มีไทยรวมอยู่ในนี้ เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านคือ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาและเวียดนาม จะมีการเชื่อมโยงมาจากฝั่งตะวันออกของจีน เริ่มตั้งแต่เขตเศรษฐกิจพิเศษปากแม่น้ำไข่มุก มณฑลกวางตุ้ง หนานหนิง กว่างสี เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา ไทย เลยลงไปถึงมาเลเซียและสิงคโปร์ ระเบียงเศรษฐกิจนี้จะเน้นการเชื่อมโยงกันทางบกเป็นหลักทั้งทางรถยนต์และรถไฟ

ในปีพ.ศ. 2565 รถไฟความเร็วสูงจากหยุนหนานถึงบ่อหาน เมืองชายแดนจีนติดกับสปป.ลาวจะเริ่มใช้งานได้ ส่วนเส้นทางที่เชื่อมต่อจากบ่อหานมาถึงบ่อเต็น หลวงพระบาง และนครเวียงจันทน์คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานก่อนในปีพ.ศ. 2564 ส่วนรถไฟความเร็วกึ่งปานกลางกึ่งสูงของไทยจะพร้อมไปเชื่อมเขาเมื่อไหร่ก็คงเมื่อนั้น แต่ถ้าเชื่อมต่อได้และไทยเรามียุทธศาสตร์ชัดเจนในการลงทุนและแสวงหาผลประโยชน์ การขนของจากไทยผ่านสปป.ลาวไปยังจีนและยุโรปก็จะเป็นอีกทางเลือกสำคัญของการขนส่ง

ใน 6 ระเบียงเศรษฐกิจนี้ จีนตั้งเป้ามากกว่าการเชื่อมโยงเฉพาะเส้นทางรถไฟหรือถนนเท่านั้น แต่ยังคิดจะให้มีการเชื่อมโยงทั้งหมด 5 ด้านด้วยกันคือ 1 เชื่อมโยงด้านนโยบายของแต่ละชาติเข้าด้วยกัน 2 เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานถนนหนทางรางรถไฟ และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ข้อมูลและโทรคมนาคม 3 เชื่อมโยงการค้า มุ่งขจัดอุปสรรคการค้าระหว่างกัน ปัจจุบันจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของ 25 ประเทศใน BRI ทั้ง 70 ประเทศ 4 เชื่อมโยงด้านการเงิน เพื่อสร้างเสถียรภาพสกุลเงินในเอเชีย จัดสรรเงินทุนและสินเชื่อ และพัฒนาตลาดตราสารหนี้ และ 5 เชื่อมโยงประชาชน สร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนด้านวัฒนธรรม การศึกษาและการท่องเที่ยว นอกจากการแจกทุนการศึกษาอย่างมากมายแล้ว จีนยังออกมาตั้งสถาบันขงจื๊อในประเทศต่างๆรวมถึงไทยเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ข้อนี้อีกด้วย

จีนเอาเงินจากที่ไหนมาลงทุนเยอะแยะ ประเทศไหนจะได้ประโยชน์จาก BRI มากสุด และไทยจะได้ประโยชน์อะไรหรือไม่ ขอให้ไปหาหนังสือของอ.อักษรศรีอ่านกันเองนะครับ ขืนเอามาเขียนหมดเดี๋ยวหนังสือขายไม่ออกกันพอดี

[smartslider3 slider="9"]