Amazing AEC – คอร์รัปชั่นในไทยเลวร้ายถึงจุดต่ำสุด

0
542

อาทิตย์ที่แล้ว ผมบอกว่าดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นของไทยซึ่งจัดทำโดยองค์กรความโปร่งใสนานาชาติ ประจำปีพ.ศ. 2562 ไทยได้คะแนนเท่าเดิมคือ 36 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 แต่อันดับแย่ลงจากอันดับที่ 99 เป็นอันดับที่ 101 จาก 180 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดนเวียดนามซึ่งดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นต่ำกว่าเมืองไทยมาโดยตลอด ปีที่แล้วยังได้แค่ 33 คะแนนอันดับที่ 117 แต่ปีนี้แซงประเทศไทยไปได้แล้วโดยได้ 37 คะแนน เป็นอันดับที่ 96 ขณะที่อินโดนีเซีย มาเลเซียก็ยังทำได้ดีอย่างต่อเนื่องทิ้งห่างประเทศไทยออกไปอีก

ผมบอกมานานแล้วว่าสถานการณ์คอรัปชั่นในไทยเลวร้ายถึงจุดต่ำสุดแล้วเพราะสาเหตุ 6 ประการนี้

1 ไทยยังไม่เคยมีผู้นำที่มือสะอาดและมีความตั้งใจจริงที่จะปราบคอรัปชั่นให้ได้สำเร็จ นับเป็นโชคร้ายของประเทศเพราะที่ผ่านมา ผู้นำทั้งที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหารและมาจากการเลือกตั้งล้วนเป็นคนที่ “ปราบคอรัปชั่นด้วยปาก” ทั้งสิ้น ฮ่องกง สิงคโปร์และ เกาหลีใต้ซึ่งเคยมีการคอรัปชั่นสูงมากเช่นเดียวกับไทย แต่เมื่อได้ผู้นำประเทศที่มือสะอาดและมีความตั้งใจจริง (Political Will) ใน การปราบคอรัปชั่น ผู้นำประเทศเหล่านั้นทำเหมือนๆกันคือปฏิรูปหน่วยงานปราบคอรัปชั่นและยืนเป็น “กำแพงเหล็ก” ให้หน่วยงาน ปราบคอรัปชั่นยืนพิงได้อย่างหนักแน่นจนไม่มีใครมาแทรกแซงการทำงานได้ การปราบคอรัปชั่นจึงทำได้สำเร็จในที่สุด

ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538 ปีแรกที่มีการจัดทำดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่น เป็นต้นมาไทยเรามีนายกรัฐมนตรี มาทั้งสิ้น 10 คน นักการเมืองที่มา ตามระบอบก็เช่น ชวน หลีกภัย บรรหาร ศิลปอาชา พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ทักษิณ ชินวัตร สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทหารที่มากับการรัฐประหารมีสองคนคือ พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทุกคนล้วนมากับนโยบายและลมปากที่อาสาเข้ามาเพื่อปราบคอรัปชั่นทั้งสิ้น แต่ประชาชนก็ยังไม่เห็นความแตกต่างของคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นนายกฯจากการเลือกตั้งหรือนายกฯจากการรัฐประหาร

2 หน่วยงานปราบคอรัปชั่นในเมืองไทยโดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) นั้นยังยึดติด อยู่กับการ “ปราม” การคอรัปชั่นมากกว่าการ “ปราบ” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง เพราะบทเรียนจากประเทศต่างๆ ที่เคยมีปัญหาเรื่องการคอรัปชั่นและแก้ได้สำเร็จ โดยเฉพาะ เกาหลีใต้ที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองและเป็นสังคมอุปถัมภ์คล้าย เมืองไทยล้วนแต่ใช้ยุทธศาสตร์ “ปราบ” คอรัปชั่นก่อนทั้งสิ้น ที่น่ากังวลอย่างมากก็คือหน่วยงานปราบคอรัปชั่นเหล่านี้ ทั้งรับรู้ทั้งมี ข้อมูลทั้งเคยไปดูงานหน่วยงานปราบคอรัปชั่นในต่างประเทศมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ยังคงยึดติดกับแนวคิด “ปราม” มากกว่า “ปราบ” มาโดยตลอดและไม่คิดจะเปลี่ยน ถ้าหากไม่ “ปฏิรูป” ทั้งตัวบุคคลและยุทธศาสตร์แล้ว ไทยเราจะไม่มีวันปราบคอรัปชั่นได้สำเร็จ อย่างแน่นอน

ไทยเข้าร่วมวัดดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2528 ซึ่งในปีนั้นไทยได้คะแนนเพียง 2.79 จากคะแนนเต็ม 10 หลังจากนั้น เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันคะแนนดัชนีภาพลักษณ์ของไทยไม่เคยได้เกิน 3.8 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 หรือไม่เคยได้เกิน 38 คะแนน เมื่อมีการเปลี่ยนคะแนนเต็มให้เป็น 100 คะแนน สะท้อนว่าตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538 เป็นต้นมาการปราบคอรัปชั่นของประเทศไทยเรา “สอบตก” มาโดยตลอด

แม้ว่าเราจะมี ปปช. มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2542 และแม้ว่า ปปช.จะบอกว่า มียุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551 จนปัจจุบันก้าวเข้าสู่ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะ 3 เข้าไปแล้วนั้นก็ไม่ได้ ทำให้คะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นของไทยเราดีขึ้นแต่อย่างใด

และแม้ว่าไทยจะมีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) พร้อมๆกับมีผู้ตรวจการแผ่นดิน ในช่วงปีพ.ศ. 2542 มีกรมสอบสวนคดี พิเศษ (DSI) ในปีพ.ศ. 2545 และมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม ทุจริตภาครัฐ (ปปท.) ในปีพ.ศ. 2551 หน่วยงาน เหล่านี้ก็ยังไม่สามารถช่วยทำให้คะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นของไทยดีขึ้นจนผ่านเกณฑ์ครึ่งหนึ่งหรือ 50 เปอร์เซ็นต์ได้เลย ระหว่างปีพ.ศ. 2542 จนถึงปีล่าสุดคะแนนของไทยแกว่งอยู่ในช่วงแคบๆระหว่าง 32 ถึง 38 คะแนนเท่านั้น และตลอดระยะเวลา 23 ปีที่ผ่านมามีเพียง 3 ปีเท่านั้นที่คะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่นของไทยเรามีคะแนนสูงสุดคือ 38 คะแนน

อาทิตย์หน้าอ่านต่อครับ

[smartslider3 slider="9"]