Amazing AEC – แหวนแม่นาฬิกาเพื่อน (จบ)

0
561

เมื่อใช้ยุทธศาสตร์ “เกลือเป็นหนอน” จนมีการชี้เบาะแสคนโกงกันมากขึ้นและจับได้ว่าโกงจริง ACRC จะ ลงโทษคนโกงอย่างหนัก ไม่ว่าคนผู้นั้นจะเป็นคนโกงมืออาชีพหรือเป็นเพียงมือใหม่หัดโกง เพิ่งโกงเป็นครั้งแรกหรือแม้จะเป็นการโกงเพียงเล็กน้อยก็ตาม ทั้งนี้เพราะ ACRC ต้องการจะทำให้คนเกาหลีใต้ทั้งประเทศคิดตรงกันว่า “อย่าโกงเลยไม่คุ้มหรอก” เป็นการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญอันที่สองที่ใช้ปราบการโกงในสังคมอุปถัมภ์ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หน่วยงานปราบโกงในไทยและคนไทย “มองข้าม” มาโดยตลอด เมื่อคนมีชื่อเสียงโกง คนไทยส่วนใหญ่มักจะคิดว่าคนเหล่านี้ เคยทำความดีเป็นคนดี แต่คราวนี้พลาดและอาจไม่ตั้งใจ อย่าไปลงโทษ อยากให้ลงโทษเบาๆ หรืออยากให้แค่รอลงอาญา

นอกจากจะมีสองยุทธศาสตร์เอาไว้ปราบคนโกงแล้ว เกาหลีใต้ยังมี “ตัดไฟแต่ต้นลม” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เชิง “ป้องกัน” การโกงอีกด้วย โดยเขาจะเน้นการอบรมและสร้างจริยธรรมอย่างสม่ำเสมอให้กับข้าราชการรุ่นใหม่ เพื่อให้ความคิดที่จะ ไม่โกงนั้นฝังลึกลงไปในจิตใต้สำนึก ข้าราชการทุกคนจะได้รับคู่มือมีระเบียบสร้างความชัดเจนว่าอะไรทำได้หรืออะไรที่ทำไม่ได้ มากไปกว่านั้นเมื่อข้าราชการคนไหนใกล้เกษียณ ACRC ก็จะตรวจสอบย้อนหลังไปห้าปีว่าข้าราชการผู้นั้นได้เคยเซ็นต์อนุมัติหรือเคยได้ช่วยบริษัทเอกชนรายใดเอาไว้บ้าง หากเป็นข้าราชการสายตุลาการก็จะถูกตรวจสอบย้อนหลังไปเช่นกันว่าเคยได้ทำคดีใดบ้าง เมื่อถึงวันเกษียณข้าราชการเหล่านั้นจะถูกห้ามมิให้ไปทำงานกับบริษัทเอกชนหรือบุคคลที่ตนเองได้เคยช่วยเหลือเอาไว้อย่างน้อยเป็นเวลา 5 ปี ทั้งสองมาตรการที่ใช้กับข้าราชการรุ่นใหม่และข้าราชการเกษียณนี้ ถือเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมที่ได้ผลดีทีเดียว

เรื่องคู่มือการปฏิบัติตนของข้าราชการให้ถูกต้องนั้น ประเทศที่โกงน้อยๆ เช่นญี่ปุ่นเขาก็มีและให้ความสำคัญเช่นกัน เช่นเดียวกับประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียที่โปร่งใสติดอันดับต้นๆ ของโลก บางประเทศเขียนไว้ชัดเจนเลยว่าการที่เอกชนเชิญข้าราชการไปดูกีฬาที่เอกชนเป็นสปอนเซอร์นั้นถือเป็นการคอร์รัปชัน บางประเทศเขียนไว้ชัดเลยว่าหากเอกชนจัดแซนด์วิชอุ่นๆ และเบียร์เย็นๆ ให้ถือเป็นการคอร์รัปชัน แต่ถ้าสลับกันจัดเบียร์อุ่นๆ และแซนด์วิชเย็นชืดให้ไม่เป็นไร อ่านมาถึงตรงนี้ คงเห็นกันแล้วว่ามาตรฐานทางจริยธรรมของไทยเราต่ำและแตกต่างจากประเทศที่โปร่งใสกันมากเสียเหลือเกิน

ACRC ยังเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการปราบคอร์รัปชันด้วยการสร้างระบบไอทีซึ่งทำให้ทุกคนที่รู้เห็นการโกง สามารถเข้าไปแจ้งเบาะแสได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ACRC ยังได้จัดคอมพิวเตอร์ไปวางไว้ตามเครือข่ายต้านโกง อาทิ สถาบันการศึกษา NGO และสมาคมการค้าทั้งหลาย ทำให้การแจ้งเบาะแสการโกงในเกาหลีใต้นั้นทำได้ง่าย โดยผู้แจ้งสามารถเลือกได้ว่าจะเปิดเผยหรือปกปิดตัวเองก็ได้ เมื่อได้รับการแจ้งเบาะแส ACRC จะให้ความสำคัญกับ “การคุ้มครอง ผู้แจ้งเบาะแส” เป็นอย่างมาก ไม่ว่าผู้แจ้งจะแจ้งเบาะแสแบบเปิดเผยหรือปกปิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้แจ้งเบาะแสที่เป็นลูกน้องและรู้เห็นการโกง ถ้าหากมีการโยกย้ายที่กระทบตำแหน่งหน้าที่ของคนแจ้งเบาะแส คนที่ออกคำสั่งโยกย้ายจะโดนลงโทษทันที มาตรการเช่นนี้ทำให้คนเกาหลีใต้ทุกอาชีพเต็มใจและพร้อมจะแจ้งเบาะแสการโกง

เมื่อได้รับการแจ้งเบาะแส ACRC จะเร่งสืบสวนสอบสวนการโกงนั้นๆ อย่างรวดเร็วและจริงจัง ไม่ว่าผู้แจ้งจะปกปิดตัวเองหรือเปิดเผยตัวเอง ไม่ว่าเรื่องที่ได้รับแจ้งนั้นจะเป็นการโกงที่ใหญ่โตหรือเป็นเพียงการโกงที่เล็กน้อย และหากมีคดีล้นมือ ACRC ก็จะตั้งทีมพิเศษมาสืบสวนสอบสวนเบาะแสที่ได้รับแจ้ง ที่น่าสนใจก็คือ ACRC ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่จะต้องรายงานผลการสืบสวนสอบสวนแก่ผู้แจ้งภายใน 30 วัน เพราะเขาต้องการทำให้สังคมเกาหลีใต้มั่นใจ ว่า ACRC นั้น เอาจริงเอาจังกับการปราบโกงในทุกๆ เรื่อง

เรื่องแหวนแม่นาฬิกาเพื่อนนี้หากเกิดขึ้นในเกาหลีใต้คนที่นั่นจะได้รับรู้ความจริงอย่างรวดเร็ว ว่าอะไรคือเรื่องจริงอะไรคือเรื่องโกหก มีใครเกี่ยวข้องมีใครรู้เห็นบ้าง คนคอร์รัปชันและคนรอบข้างจะโดนลงโทษอย่างหนักและรวดเร็ว เพราะเขาเคย มีบทเรียนที่ล้ำค่าว่าการปราบคอร์รัปชันแบบไม่จริงจังและการเลือกปราบแต่ฝ่ายตรงกันข้ามนั้นได้เคยพาเอาประเทศของเขาล่มสลายไปได้อย่างไร วันนี้ไทยเรากำลังอยู่บนทางสองแพร่งของการปราบคอร์รัปชันอีกครั้ง หากยังปล่อยให้เป็นเช่นนี้เราคงจะต้องล่มสลายเหมือนเกาหลีใต้ในอดีต คำถามก็คือทำไมไทยเราต้องรอจนประเทศล่มสลายเสียก่อนหรือเราถึงจะ รู้ตัวและตื่นขึ้นมาปฏิรูปการปราบคอร์รัปชัน?

[smartslider3 slider="9"]