Amazing AEC – เสรีภาพสื่อมวลชนโลก

0
625

วันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมาเป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ซึ่งกำหนดโดยองค์การสหประชาชาติมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2536 และทุกปีนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) องค์การที่ไม่แสวงหาผลกำไรเอกชนนานาชาติซึ่งสนับสนุนและปกป้องเสรีภาพสื่อและเสรีภาพข้อมูลข่าวสาร จะจัดทำดัชนีเสรีภาพสื่อ World Press Freedom เพื่อเปรียบเทียบเสรีภาพของสื่อในแต่ละประเทศ

ผลการจัดอันดับปี 2563 ปรากฏว่ากลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียกินรวบคว้าตั้งแต่ตำแหน่งที่ 1 ถึงที่ 4 โดยไม่แบ่งให้กลุ่มประเทศอื่นเข้าไปแทรกได้เลย โดยนอร์เวย์ยังยืนเป็นที่หนึ่ง ประเทศที่สื่อมวลชนมีเสรีภาพมากที่สุดในโลกได้ติดต่อกันมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว ตามมาด้วยฟินแลนด์ เดนมาร์กและสวีเดน แม้ว่าทั้งสองประเทศหลังจะเริ่มมีปัญหา Cyber-Harassment มากขึ้นจนเห็นได้ชัดก็ตาม

อันดับที่ 5 ถึง 10 ได้แก่เนเธอร์แลนด์ จาเมกา คอสตาริกา สวิสเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์และโปรตุเกส ทำให้นิวซีแลนด์เป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนบวก 6 ของเราที่สื่อมีเสรีภาพดีที่สุด

ส่วนอันดับใน AEC ปรากฎว่า สื่อในมาเลเซียมีเสรีภาพมากที่สุดอยู่ในอันดับที่ 101 ของโลก และถุกเขียนถึงในรายงานของนักข่าวไร้พรมแดนเป็นประเทศที่สื่อมวลชนมีเสรีภาพมากขึ้นที่สุดในโลกดีขึ้น 22 อันดับจากที่เคยได้อันดับที่ 123 ในปีที่แล้ว และเคยได้อันดับที่ 145 เมื่อปีพ.ศ. 2561 เหตุผลที่ทำให้สื่อมวลชนในมาเลเซียมีเสรีภาพมากขึ้นที่สุดในโลกก็เพราะมีการเลือกตั้งและมีการเปลี่ยนรัฐบาลนั่นเอง

อันดับสองใน AEC คืออินโดนีเซียซึ่งเคยเป็นแชมป์เสรีภาพของสื่อมวลชนของภูมิภาคในปีพ.ศ. 2561 คือได้อันดับที่ 124 ของโลก ปีล่าสุดแม้ว่าสื่อมวลชนจะมีเสรีภาพมากขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 119 แต่ก็ยังแพ้มาเลเซียอยู่ดี ส่วนที่สามคือฟิลิปปินส์ได้อันดับที่ 136 ตามมาด้วยเมียนมาร์ ซึ่งได้อันดับที่ 139

เมียนมาร์นั้นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่สื่อมวลชนมีเสรีภาพมากขึ้นอย่างน่าอะเมซิ่งเพราะเมื่อ 10 ปีที่แล้ว พ.ศ. 2553 สื่อมวลชนของเมียนมาร์มีเสรีภาพอยู่ที่อันดับ 174 ของโลกมีเสรีภาพน้อยที่สุดใน AEC และเกือบจะน้อยที่สุดในโลก แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาสื่อมวลชนในเมียนมาร์ก็เริ่มมีเสรีภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

ไทยเราซึ่งเคยเป็นประเทศลำดับต้นๆใน AEC ที่สื่อมวลชนมีเสรีภาพ แต่ในปีล่าสุดกลับได้อันดับที่ 140 โดนเมียนมาร์เบียดแซงไปได้แบบเฉียดฉิว ทำให้ไทยเราอยู่อันดับที่ 5 ของ AEC ตามมาด้วยกัมพูชา อันดับที่ 144 บรูไนอันดับที่ 152 สิงคโปร์ อันดับที่ 158 สปป.ลาวอันดับที่ 172 และเวียดนามรั้งท้ายเช่นเดิมอยู่อันดับที่ 175 ของโลก

อาจจะเป็นรูปแบบการปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ทำให้สื่อมวลชนในสปป.ลาวและเวียดนามถูกควบคุมอย่างใกล้ชิดไม่ต่างจากจีนซึ่งสื่อมวลชนก็มีเสรีภาพน้อยมาก ปีพ.ศ. 2563 สื่อมวลชนจีนมีเสรีภาพเป็นอันดับที่ 177 จากทั้งหมด 180 ประเทศที่นักข่าวไร้พรมแดนจัดอันดับ โดยประเทศที่สื่อมวลชนมีเสรีภาพน้อยที่สุดในโลกปีนี้คงเดากันไม่ยากว่าเป็นเกาหลีเหนือ

ประเทศอื่นๆในอาเซียนบวก 6 ที่น่าสนใจคือ ออสเตรเลีย สื่อมวลชนมีเสรีภาพเป็นอันดับที่ 26 เกาหลีใต้ อันดับที่ 42 ญี่ปุ่น อันดับที่ และอินเดียได้อันดับที่ 142 ส่วนติมอร์เลสเตที่สนใจจะเป็นสมาชิก AEC ได้อันดับที่ 78 ของโลก
นักข่าวไร้พรมแดนมองว่าจากนี้ไปสื่อมวลชนทั่วโลกจะเผชิญกับวิกฤติด้านภูมิรัฐศาสตร์และแนวคิดที่เป็นเผด็จการของผู้นำประเทศมากยิ่งขึ้น ประเทศที่อยู่ในกลุ่มนี้เช่น จีน ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ รัสเซีย อินเดีย สหรัฐและบราซิล ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วด้านดิจิทัลและเศรษฐกิจก็จะทำให้สื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์นั้นอยู่ยากยิ่งขึ้น รัฐบาลหลายประเทศอ้างความจำเป็นต้องควบคุม Fake News ด้วยการออกกฎหมายมาควบคุมสื่อมากยิ่งขึ้น ปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแต่จะทำให้สื่อมวลชนมีเสรีภาพน้อยลง

และในช่วงการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลในหลายประเทศก็ฉวยโอกาสนี้ควบคุมสื่ออย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

[smartslider3 slider="9"]