Amazing AEC – เสรีภาพของสื่อใน AEC

0
546

เสรีภาพของสื่อใน AEC

5 มีนาคมที่ผ่านมาเป็นวันนักข่าว อาทิตย์นี้ผมเลยจะขอเล่าให้ฟังถึง “ดัชนีเสรีภาพของสื่อมวลชน” ของหลายๆประเทศให้รู้กัน ดัชนีเสรีภาพของสื่อมวลชนนั้นจัดทำโดย “องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน” ซึ่งมีปรัชญาในการทำงานว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะคิดและแสดงออกถึงความคิดของตนเอง และคนทุกคนมีสิทธิที่จะค้นหา รับรู้และสามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างเสรี ทั้งที่เป็นข้อมูลและที่เป็นแนวความคิดอย่างเต็มที่ไม่ว่าคนผู้นั้นจะอยู่ที่ใดก็ตาม ดังนั้นองค์กรนักข่าวไร้พรมแดนจึงให้ความสำคัญกับการเซ็นเซอร์ข่าวสารและความคิดเห็นในสื่อต่างๆ และในปัจจุบันเน้นการเซ็นเซอร์ทางอินเตอร์เน็ตมากขึ้น คำว่าเซ็นเซอร์ของเขานี่รวมถึงการถูกบีบบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อมให้สื่อมวลชนต้อง “เซ็นเซอร์ตัวเอง” ดังเช่นที่สื่อไทยส่วนใหญ่กำลังทำกันอยู่

ในบรรดา AEC 10 ประเทศนั้น ประเทศที่มีดัชนีเสรีภาพของสื่อมวลชนของปีพ.ศ. 2560 ดีที่สุดคืออินโดนีเซียมีเสรีภาพ ดีเป็นอันดับที่ 124 ของโลกจาก 180 ประเทศที่ถูกจัดอันดับ ตามมาติดๆ ก็คือฟิลิปปินส์ที่ได้อันดับที่ 127 เมียนมา อันดับ ที่ 131 และกัมพูชาอันดับที่ 132 ส่วนไทยนั้นได้อันดับที่ 5 ของ AEC อันดับที่ 142 ของโลก แย่กว่ากัมพูชา 10 อันดับและแพ้อินโดนีเซียเกือบๆ 20 อันดับ

อินโดนีเซียนั้นในช่วงปีพ.ศ. 2545 – 2553 ดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนของเขาส่วนใหญ่จะได้อันดับดีที่สุดใน AEC ก่อนที่จะ เริ่มแย่ลงในหลังปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมาแล้วจึงมาปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 ซึ่งผมคาดว่าน่าจะเป็นเรื่องแนวคิดของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน “โจโควี่” ซึ่งมือค่อนข้างสะอาดและใจค่อนจะเปิดกว้าง ที่สำคัญโจโควี่เป็นนักการเมืองคนหนึ่ง ที่สามารถใช้สื่อสมัยใหม่เช่นทวิตเตอร์อย่างเชี่ยวชาญและได้ผลจนสามารถสร้างฐานเสียงและคว้าชัยชนะได้เป็นผู้ว่ากรุงจาร์กาต้าและประธานาธิบดีได้ในที่สุด เขาจึงเห็นความสำคัญของเสรีภาพในการใช้อินเตอร์เน็ต

ฟิลิปปินส์ซึ่งส่วนใหญ่มีดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนแย่กว่าไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2559 ก่อนที่จะกระโดดแซงไทยไปถึง 15 อันดับในการจัดอันดับปีล่าสุด เช่นเดียวกับเมียนมาร์ที่มีพัฒนาการอย่างน่าอะเมซิ่งเพราะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ถึงปีพ.ศ. 2553 เมียนมานั้นรั้งอันดับบ๊วยของ AEC และเกือบจะเป็นอันดับสุดท้ายของโลกเสียด้วยซ้ำไป แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาเมียนมามีดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนดีขึ้นอย่างมากจากที่ 170 กว่าๆ ของโลก แซงไทยไปจบในอันดับที่ 131 ได้ในปีล่าสุด ส่วนกัมพูชานั้นมีดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะกับไทยเรามาโดยตลอด แต่ถ้าดูให้ดีๆ ผมมองเห็นว่าแนวโน้มดัชนีเสรีภาพฯของเขามีแนวโน้มแย่ลง ซึ่งก็สอดคล้องกับสถานการณ์ ความตึงเครียดและการผูกขาดทางการเมืองของเขา ยิ่งใกล้เลือกตั้งทั่วไปเข้าไปทุกขณะ การเซ็นเซอร์สื่อมวลชนในกัมพูชา ก็ย่อมจะมีมากยิ่งขึ้น อันนี้ก็น่าจะเหมือนไทยเราเช่นกัน

ประเทศที่ได้ดัชนีเสรีภาพของสื่อมวลชนอันดับที่ 6 ถึง 10 ของ AEC ตามลำดับคือ มาเลเซีย อันดับที่ 144 ของโลก สิงคโปร์อันดับที่ 151 บรูไนอันดับที่ 156 สปป.ลาวอันดับที่ 170 และบ๊วยสุดคือเวียดนามซึ่งได้อันดับที่ 175 ของโลกจาก ทั้งหมด 180 ประเทศที่ถูกจัดอันดับ

ประเทศคอมมิวนิสต์นั้นยังนิยมที่ควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่สปป.ลาวและเวียดนามจะยึดอันดับ รองบ๊วยและบ๊วยของ AEC มาเกือบจะตลอดและยังไม่มีท่าทีจะดีขึ้น โดยเฉพาะเวียดนามนั้นได้ดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชน อันดับที่ 175 เกือบจะแย่ที่สุดในโลกมาสามปีซ้อนแล้ว ขณะที่ยักษ์ใหญ่คอมมิวนิสต์ของโลกเช่นจีนแม้หลายสิ่งหลายอย่างจะพัฒนาไปมาก แต่เรื่องการควบคุมสื่อมวลชนและอินเตอร์เน็ตก็ยังเข้มงวดเหมือนเดิม ดัชนีฯของจีนเลยได้ที่ 176 มาสามปีซ้อนเช่นกัน บรูไนซึ่งปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็มีแนวโน้มดัชนีที่แย่ลงเช่นเดียวกับมาเลเซียและสิงคโปร์ที่ดัชนีก็ค่อนข้างแย่ เพราะแม้จะเป็นประเทศประชาธิปไตยแต่ผู้นำและรัฐบาลก็ยังนิยมที่จะเซ็นเซอร์สื่อมวลชน

บุคคลที่องค์กรนักข่าวไร้พรมแดนประกาศว่าเป็นผู้นำที่ล่าเสรีภาพของข้อมูลข่าวสารใน AEC ก็เช่น เหงียนฟู้จ๋อง เลขาฯพรรคคอมฯของเวียดนาม ลีเซียนลุง นายกฯสิงคโปร์ และพลเอกประยุทธ จันทร์โอชาของเรา มีความอินเตอร์ฯ เทียบเท่าวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียและสี จิ้นผิงของจีนและคิมจองอึนของเกาหลีเหนือกันเลยทีเดียว

[smartslider3 slider="9"]