Amazing AEC – อาชีพในอนาคต (2)

0
588

ดร.วิริยะ ลือชัยพาณิชย์ Eduzone แนะนำว่าจะมี 7 กลุ่มอาชีพที่จะรุ่งในอนาคตคือ 1 ผู้เชี่ยวชาญ มีความเก่งในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง 2 ผู้รวบรวม ไปรวบรวมเนื้อหาจากแหล่งต่างๆ 3 ผู้สร้าง สามารถสร้างหรือผลิตด้วยตนเอง 4 ผู้เผยแพร่ มีช่องทางเผยแพร่และมีศาสตร์ในการเผยแพร่ ถ่ายทอด 5 ผู้ขาย มีความสามารถในการขาย 6 ผู้จัดการชุมชน หรือ Social Network Manager มีความ สามารถสร้างชุมชน โดยชุมชนที่ว่าไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นชุมชนที่ใหญ่ ชุมชนเล็กแต่มีคุณภาพก็ใช้ได้ ส่วนคนที่จะรวยที่สุด ดร.วิริยะ บอกว่าคือ 7 ผู้วางกลยุทธ์ด้านเนื้อหา หรือ Content Strategist โดยทั้ง 7 อาชีพนี้ต้องตั้งอยู่บน Knowledge Business ซึ่งทักษะในอนาคตที่คนควรจะมีคือทักษะด้านสื่อสาร ทักษะด้านการร่วมมือ และทักษะความคิดสร้างสรรค์

ส่วน ดร.รยูแทโฮ นักวิชาการศึกษาแห่งอนาคตได้เขียนไว้ในหนังสือ “เมื่อหุ่นยนต์ครองโลก การศึกษาคือทางรอดเดียวของมนุษย์” ว่าคนที่จะประสบความสำเร็จในอนาคตนั้นต้องมีคุณสมบัติสำคัญ 10 ข้อด้วยกันคือ

1 แก้ปัญหาซับซ้อนได้ มีความสามารถแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ที่คลุมเครือ เพราะการผสมผสานของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากับปัญหาของมนุษย์ มันจะผสมผสานจนดูคลุมเครือ การแก้ปัญหาแบบเดิมๆที่ท่องจำสิ่งที่เรียนมาเอามาแก้ปัญหาที่ชัดเจนที่มีคำตอบตายตัวแบบเดิมๆมันจะไม่ได้ผล ต้องมีความสามารถหาคำตอบที่เหมาะสมที่สุดสำหรับปัญหาที่ยังไร้คำตอบผ่านการใช้มุมมองและการริเริ่มทดลองที่หลากหลาย

2 คิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นความสามารถใช้ตรรกะ อนุมาณ วิเคราะห์ เปรียบเทียบแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพราะปัญหาสมัยใหม่จะเป็นปัญหาใหม่ๆที่เราไม่เคยเจอไม่เคยมีมาก่อน จำเป็นต้องใช้ความสามารถเสนอวิธีแก้อันเหมาะสมผ่านการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบและมีตรรกะ

3 คิดอย่างสร้างสรรค์ มีความสามารถในการนำเสนอวิธีการอันสร้างสรรค์ต่อกระบวนการแก้ไขปัญหา หรือสามารถนำเสนอไอเดียแปลกใหม่เมื่อเผชิญสถานการณ์หรือโจทย์ที่กำหนดให้

ถ้าใครมีทั้ง 3 คุณสมบัตินี้คือ ความสามารถแก้ปัญหาซับซ้อน คิดอย่างมีวิจารณญาณ และความคิดสร้างสรรค์ เมื่อเอาไปใช้กับ “ดาต้า หรือข้อมูล” คนผู้นั้นจะสามารถแปลงดาต้าหรือข้อมูลที่มีอยู่ให้เป็นอะไรก็ได้ และจะประสบความสำเร็จอย่างมากในโลกอนาคต ความสำเร็จของ แจ็ค หม่า อาลีบาบา ก็เป็นตัวอย่างของการมีความสามารถทั้งสามข้อนี้และเอาไปใช้กับดาต้าอย่างได้ผลดีเยี่ยม

คุณสมบัติข้อต่อมาคือ

4 บริหารจัดการคน วางคนถูกงาน สร้างแรงกระตุ้น แรงจูงใจได้ บริหารจัดการเป็นขั้นเป็นตอนและมีประสิทธิภาพ

5 ร่วมมือกับผู้อื่น มีความสามารถควบคุมพฤติกรรมของตนต่อพฤติกรรมคนรอบข้าง ยกย่องคุณค่าของการร่วมมือกันกับคนรอบข้าง มากกว่าจะดื้อรั้นเอาแต่ใจตัวเองหรือสนใจแต่ความสำเร็จของตัวเอง

6 ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นความสามารถตระหนักรู้ถึงปฏิกิริยาอีกฝ่าย และเข้าใจว่าทำไมเขาถึงมีปฏิกิริยาเช่นนั้น จะทำให้เรามีประสาทสัมผัสฉับไวเข้าใจรสนิยม แนวโน้มความต้องการ รูปแบบการซื้อขายของผู้บริโภคแต่ละราย จนเราสามารถพัฒนาสินค้าหรือเทคโนโลยีได้ตรงโจทย์

7 ประเมินและตัดสินใจ ประเมินและตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมที่สุดหลังวิเคราะห์ต้นทุนและผลกำไรในปัญหาหรือสถานการณ์หนึ่งๆ ไม่ต้องรอให้ใครสั่ง ขับเคลื่อนการทำงานได้เอง

8 มีจิตมุ่งบริการ มีความสามารถในการแสวงหาวิธีช่วยเหลือผู้อื่นอย่างกระตือรือร้น กระตือรือร้นผลักดันเป้าหมายอย่างมุ่งมั่น โดยมีสำนึกบนพื้นฐานของจิตอาสาและความเสียสละต่อผู้อื่นมากกว่าเห็นแต่เรื่องของตนเอง

9 เจรจาต่อรอง มีความสามารถในการพยายามลดความต่างทางความคิดหรือผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้อง ในอนาคตบุคคล บริษัท องค์กร รัฐบาล ต่างเชื่อมโยงใกล้ชิดในหลายมิติ เราจึงจำเป็นต้องตัดสินใจอย่างมีเหตุผลโดยคิดถึงผลประโยชน์ร่วมกัย ลดความเสียหาย ผ่านการเจรจาต่อรอง

10 คิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่น ความสามารถใช้หลักการหลากหลายเพื่อจัดลำดับและปรับโครงสร้างทำงานด้วยวิธีต่างๆ เช่น พนักงานในต่างจังหวัดประชุมร่วมกับสำนักงานใหญ่ผ่านวิดิโอคอนเฟอร์เร้นท์ ต้องคิดให้หลุดจากกรอบเดิมและแก้ปัญหาซับซ้อนที่ไม่เคยมีมาก่อนได้สำเร็จ

โดยสรุปหากไม่ต้องการจะเป็นลูกน้องหุ่นยนต์ คนเราจะต้องหล่อหลอมรวมพื้นฐานทักษะทางสังคม ซึ่งได้แก่ร่วมมือกับผู้อื่น ความฉลาดทางอารมณ์ มีจิตมุ่งบริการเจรจาต่อรอง บริหารจัดการคน เข้ากับทักษะทางปัญญา ซึ่งได้แก่ความคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่น เพราะโลกอนาคตหรือในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นั้นก็คือยุคแห่งการบูรณาการสหวิทยาการที่หลอมรวมคนกับเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์กับมนุษย์ศาสตร์เข้าด้วยกันอย่างสมดุล

[smartslider3 slider="9"]