Amazing AEC – อะเมซิ่งโมดี

0
539

การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศประจำปี 2559 – 2560 โดย เวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่ม WEF เมื่อสองสาม วันที่ผ่านมา ทำให้โลกทั้งโลกต้องหันขวับกลับมามองอินเดียกันแบบตะลึงกันหมด เพราะอินเดียเป็นประเทศที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นมากที่สุดในโลก คือกระโดดจากอันดับที่ 55 ในปีที่แล้วมาเป็นอันดับที่ 39 ในปีนี้ ดีขึ้นมาถึง 16 อันดับ  วันนี้ผมเลยจะแนะนำให้รู้จักนายกรัฐมนตรีคนเก่งของอินเดีย คนที่ทำให้อินเดียพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วและกำลังจะก้าวไปสู่การเป็นมหาอำนาจของโลกเคียงคู่กับจีนในไม่ช้า

นเรนทรา โมดี เกิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2493 ในครอบครัว “วรรณะศูทร” พ่อเป็นพ่อค้าขายชาในรัฐคุชราต รัฐที่ยากจนที่สุดรัฐหนึ่งของอินเดีย เพราะครอบครัวฐานะไม่ค่อยดีเขาจึงต้องช่วยพ่อขายชาบนรถไฟตั้งแต่เด็กๆ ต่อมาเขาและพี่ชายก็ตั้งร้านขายชาที่สถานีรถไฟเพื่อส่งเสียตัวเองเรียนหนังสือ แม้ว่าตอนเรียนหนังสือเขาจะไม่ได้เป็นคนที่ เรียนเก่ง แต่โมดีกลับมีความโดดเด่นในการโต้วาทีและการพูดต่อหน้าสาธารณชน เมื่อตอนเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัย คุชราต เขาก็ได้เข้าร่วมกับกลุ่มนักศึกษาต่อต้านคอร์รัปชั่นและได้เริ่มเข้าสู่การเมืองครั้งแรกด้วยการสมัครเป็นสมาชิก กลุ่มอาร์เอสเอส กลุ่มชาตินิยมฮินดูของพรรคภารติยะชนาตะหรือพรรคบีเจพี

หลังเรียนจบ เขาเริ่มต้นทำงานในบริษัทขนส่ง ก่อนที่จะผันตัวมาเป็นผู้ช่วยรณรงค์ด้านการเมืองให้พรรคบีเจพีอย่างเต็มตัว จนในที่สุดได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรคบีเจพี สาขารัฐคุชราต เมื่อได้เป็นเลขาธิการ เขาแสดงฝีมือการวางแผนหา เสียง จนพรรคชนะการเลือกตั้งในรัฐคุชราต ในปี 2538 และ 2541 พรรคจึงได้ส่งโมดีลงสมัครชิงตำแหน่งมุขมนตรีแห่งรัฐคุชราต (คล้ายๆ ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดบ้านเรา) ในปี 2544 ซึ่งเขาก็สามารถเอาชนะเลือกตั้งและได้เป็น มุขมนตรีคนที่ 14  ของรัฐคุชราต

ด้วยการบริหารที่โปร่งใสไร้คอร์รัปชั่นและเน้นการพัฒนาควบคู่กันทั้งด้านเศรษฐกิจและเกษตรกรรม โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำอย่างมียอดเยี่ยมทำให้ผลผลิตทางการเกษตรสูงขึ้นอย่างมาก ผลงานที่โดดเด่นทำให้โมดีได้รับเลือกให้เป็นมุขมนตรีแห่งรัฐคุชราตติดต่อกันนานถึง 4 สมัย ซึ่งนานพอที่จะทำให้เขาสามารถพัฒนารัฐที่ยากจนที่สุดของประเทศให้กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงอย่างมากและเป็นรัฐต้นแบบในการพัฒนาสำหรับรัฐอื่นๆ ในอินเดีย

จากความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในรัฐคุชราต ในปี 2557 พรรคบีเจพี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ในขณะนั้นจึงได้ส่งนายนเรนทรา โมดี ลงสมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง โมดีได้หาเสียงว่า ถ้าได้เป็นนายกรัฐมนตรีเขาจะเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่ซบเซา ด้วยการกระตุ้นกำลังการผลิตและจะเอารูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจในรัฐคุชราตหรือคุชราตโมเดลมาเป็นต้นแบบ รวมทั้งสัญญาจะสร้างงานใหม่ๆ เพื่อรองรับเพิ่มขึ้นของประชากรวัยแรงงาน ซึ่งเพิ่มขึ้นปีละมากกว่า 15 ล้านคนให้ได้ ด้วยความสำเร็จจากรัฐคุชราตแนวนโยบายที่ถูกใจประชาชนรวมถึงความ สามารถในการปราศรัยทำให้โมดีเอาชนะการเลือกตั้งได้แบบถล่มทลาย และได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ ประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลกเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

สามนโยบายหลักของโมดีที่ทำให้อินเดียมีความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นแบบผิดหูผิดตาก็คือคือหนึ่ง “Make in India” ที่เน้นการดึงดูดให้บริษัทต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาลงทุนผลิตสินค้าให้มากขึ้นในอินเดีย เพื่อให้อินเดียกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก สอง “ดิจิตอลอินเดีย” นโยบายที่จะยกระดับอินเดียด้วยการใช้ดิจิตอลมาเป็นตัวขับเคลื่อน และพยายามที่จะเชื่อมต่อทุกพื้นที่ในชนบทของประเทศ ด้วยเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และสาม “สมาร์ท ซิตี้” ซึ่งมีเป้าหมายที่จะการลงทุนปฏิรูปเมืองใหญ่ 100 เมืองทั่วประเทศ ให้กลายเป็นสมาร์ทซิตี้โดยเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนร่วมลงทุนพัฒนาแต่ละเมือง นอกจากด้านเศรษฐกิจ โมดียังให้ความสำคัญอย่างมากกับการแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศ ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าและห้องน้ำ เมื่อตอนก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ สื่อตะวันตกวิจารณ์ว่าเขาเป็น One Man Band  วงดนตรีที่เล่นเป็นอยู่คนเดียว คงนำพาอินเดียไปไม่ได้ไกล แต่วันนี้โมดีก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าขอเพียงเป็นคนเก่งจริง เล่นดนตรีคนเดียวก็เพราะได้

[smartslider3 slider="9"]