Amazing AEC – อะเมซิ่งเลือกตั้งอินโดนีเซีย

0
588

มหกรรมการเลือกตั้งในอินโดนีเซียเมื่อวันพุธที่ 17 เมษายน ที่เพิ่งผ่านไปนั้นนับเป็นการเลือกตั้งที่ทั้งโลกบอกว่าสลับ ซับซ้อนมากที่สุดในโลกซึ่งเกิดขึ้นภายในวันเดียว เพราะมีเรื่องอะเมซิ่งเกิดขึ้นมากมายในวันเดียวดังนี้

เรื่องแรก เป็นการเลือกตั้งซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องกาบัตรเลือกตั้งถึง 5 ใบ ใบที่หนึ่งสำหรับการเลือกประธานาธิบดีและ รองประธานาธิบดี ใบที่สองเลือกผู้แทนระดับประเทศหรือสส. ใบที่สามเลือกผู้แทนระดับจังหวัด ใบที่สี่และใบที่ห้า เลือกผู้แทนระดับท้องถิ่น กาเสร็จแล้วต้องเอาไปใส่กล่องทั้ง 5 ซึ่งมีสีต่างกันคือ เขียว ฟ้า แดง เหลืองและเทา

เรื่องน่าอะเมซิ่งเรื่องต่อมาก็คือ จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดมีมากเกือบ 190 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 2 ล้านคนที่ประสงค์ จะลงคะแนนในต่างประเทศ มีผู้สมัครชิงทุกตำแหน่งรวมกันทั้งสิ้นเกือบ 250,000 คนเพื่อชิงตำแหน่งทั้งหมดที่มีมากกว่า 20,000 ตำแหน่ง เลยทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนจะต้องจำผู้สมัครที่ต้องการเลือกให้ได้ 250 ถึง 450 คน แล้วแต่เขต เลือกตั้งที่ผู้มีสิทธิอยู่ มิเช่นนั้นอาจจะเลือกผิดคนได้

จำนวนหน่วยเลือกตั้งก็เป็นเรื่องน่าอะเมซิ่งเพราะมีมากกว่า 800,000 หน่วยกระจายอยู่ใน 6,000 เกาะซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่ จากเกาะทั้งหมดของประเทศมีอยู่ทั้งหมดมากกว่า 17,000 เกาะ ทำให้ต้องมีการใช้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งมากถึง 6 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่รวมทหารและตำรวจอีกนับล้านนายซึ่งมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยและการกระทำผิด กฎหมายในช่วงการเลือกตั้ง แต่ไม่มีสิทธิในการลงคะแนน

งบประมาณที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้งสูงเกือบถึง 60,000 ล้านบาท แต่ก็ยังถูกกว่าการจัดการเลือกตั้งในอดีตเช่นเมื่อ 5 ปี ที่แล้วซึ่งเคยใช้งบประมาณรวมกันสูงถึง 80,000 ล้านบาท เพราะในอดีตมีการแยกการเลือกตั้งออกเป็นสองครั้งคือเลือกตั้ง ผู้แทนทั้ง 4 ระดับในเดือนเมษายน และการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนสิงหาคม การใช้งบประมาณจำนวนสูงมากนี่เอง เป็นแรงกดดันให้อินโดนีเซียต้องสร้างระบบการจัดการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส เพราะถ้าเลือกตั้งแล้วโมฆะ บ่อยๆ ประเทศน่าจะล้มละลายเอาได้ง่ายๆ

การเลือกตั้งในอินโดนีเซียจะเริ่มเปิดหีบลงคะแนนตั้งแต่ 07.00 น. และปิดหีบในเวลา 13.00 น. ตามเวลาในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีความแตกต่างกันถึง 3 ชั่วโมงระหว่างเมืองที่อยู่ทางทิศตะวันออกสุดไปถึงเมืองที่อยู่ทางทิศตะวันตกสุดของประเทศ
ส่วนการนับคะแนนน้นจะนับกันทั้งหมด 5 รอบ โดยรอบแรกจะนับกันที่หน่วยเลือกตั้ง หลังจากนั้นจะขนหีบบัตรกัน อย่างยากลำบากมานับกันที่หมู่บ้าน อำเภอ มณฑลและจังหวัด ก่อนที่จะประกาศผลอย่างเป็นทางการโดยคณะกรรมการ จัดเลือกตั้ง (KPU) ภายใน 30 วันหลังการลงคะแนน ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้จะต้องประกาศผลอย่างเป็นทางการก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม

อีกเรื่องที่น่าอะเมซิ่งก็คือ Quick Count ซึ่งทำให้ทราบผลเลือกตั้งของ 800,000 กว่าหน่วยเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการได้ภาย ใน 1 ชั่วโมง ในระหว่างการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง KPU จะอนุญาตให้สถาบันวิชาการหรือสถาบันวิจัยซึ่งต้องมาลง ทะเบียนไว้ล่วงหน้าให้เข้าไปร่วมนับคะแนนกับเจ้าหน้าที่ของ KPU ได้ สถาบันต่างๆเหล่านี้จะเลือกหน่วยเลือกตั้งที่จะเข้า ไปร่วมนับคะแนนตามหลักวิชาสถิติในจำนวนสองถึงสามพันหน่วย เมื่อได้คะแนนจากหน่วยเลือกตั้งเหล่านั้น สถาบันก็ จะคำนวนคะแนนของผู้สมัครโดยใช้หลักสถิติ คะแนนจากจากการคำนวณของสถาบันเหล่านี้ที่เรียกว่า Quick Count จึงแตกต่างจาก Exit Poll และคะแนน Quick Count ต่างๆจึงสามารถประกาศได้ภายใน 1 ชั่วโมงหลังหน่วยเลือกตั้ง สุดท้ายปิดหีบลงหรือภายในราว 16.00 น.เวลาประเทศไทย ซึ่งในการเลือกตั้งวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา คะแนน Quick Count ของสองสถาบันที่เคยคำนวณได้อย่างแม่นยำคือ Litbang Kompas และ CSIS – Cyrus Network ต่างก็ประกาศ คะแนน Quick Count ว่านายโจโควี่และทีม จะชนะนายพลปราโบโว่และทีมไปในคะแนน 55 ต่อ 45 เปอร์เซ็นต์

สัปดาห์หน้าจะมาเขียนต่อถึงเรื่องการตรวจสอบและการถ่วงดุลอำนาจหรือ Check and Balance ของการจัดการเลือกตั้ง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเลือกตั้งในอินโดนีเซียโปร่งใส ขณะที่ไทยเราไม่ (อยากให้) มี !!!

[smartslider3 slider="9"]