Home DailyNews Amazine AEC 2016 Amazing AEC – สงกรานต์นานาชาติ

Amazing AEC – สงกรานต์นานาชาติ

0
550
[smartslider3 slider="7"]

วันสงกรานต์นั้นไม่ได้มีเฉพาะแต่ในประเทศไทยอย่างที่หลายคนเข้าใจนะครับ แต่มีแพร่หลายในกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ชาวพุทธที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของมาเลเซีย ชาวไตในมณฑลหยุนหนานของจีนและคนในภาคตะวันออกของอินเดีย ต่างก็ฉลองเทศกาลสงกรานต์เหมือนๆกันครับ และที่หลายประเทศมีเทศกาลสงกรานต์นั้นก็เป็นเพราะได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอินเดีย

คำว่า “สงกรานต์” นั้นเป็นภาษาสันสกฤตนะครับ แปลว่า “ก้าวย่าง” ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนผ่าน เป็นการเปลี่ยนจากราศี หนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่งหรือหมายถึงวันขึ้นปีใหม่นั่นเอง ที่อินเดียจะเขาฉลองในวันพระจันทร์เต็มดวงครั้งสุดท้ายของฤดูหนาวซึ่งจะอยู่ในช่วงกลางถึงปลายเดือนมีนาคม ส่วนสงกรานต์ในไทยและประเทศเพื่อนบ้านนั้นจะเป็นช่วงเดียวกันครับ

ราชสำนักกัมพูชาในสมัยก่อนนั้นนับถือศาสนาพราหมณ์ ดังนั้นจึงรับเอาประเพณีสงกรานต์จากอินเดียมาก่อนเพื่อน กัมพูชาเลยมีการเฉลิมฉลองสงกรานต์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 1600 ที่นั่นเขาเรียกสงกรานต์ว่า “โจล ทะนัม คะแมร์” ซึ่งแปลว่า เข้าปีกัมพูชาหรือ “โจล ทะนัม ทะเมย” ซึ่งแปลว่าเข้าปีใหม่ก็ได้ วันแรกเขาจะถือเป็นวันปีใหม่หรือวันมหาสงกรานต์ ในวันนี้คนกัมพูชาจะออกไปทำบุญตักบาตรและขนทรายเข้าวัดเพื่อเตรียมก่อเจดีย์ทรายในวันรุ่งขึ้น วันที่สองจะเป็นวันที่ ครอบครัวจะกลับมาอยู่บ้านให้พร้อมหน้าพร้อมตากัน มีประเพณีให้เงินทองแก่ลูกหลานและนิยมซื้อเสื้อผ้าให้กัน พอตกค่ำครอบครัวก็จะพากันเข้าวัดไปก่อเจดีย์ทราย ส่วนในวันที่สามคนกัมพูชาก็จะสรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และที่ขาดไม่ได้ก็คือการละเล่นและงานรื่นเริงทั้งหลายรวมทั้งการรำวงด้วย

ส่วนสงกรานต์ที่ สปป.ลาว เขาเรียก “กุดสงกรานต์” นั้นคนที่นั่นนิยมที่จะออกไปสรงน้ำพระกัน ถ้าอยู่ในนครเวียงจันทน์ ก็มักจะไปสรงน้ำพระที่หอพระแก้ว แต่ที่หลวงพระบางนั้นดูเหมือนจะได้รับความนิยมมากกว่าโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยว เพราะที่หลวงพระบางจะมีงานทั้งหมดสี่วันด้วยกันคือวันแรกเรียก “วันสังขารล่วง” เป็นวันทำความสะอาดบ้านเพื่อเป็น การปัดกวาดสิ่งที่ไม่ดีของปีที่ผ่านไปให้ออกไปเพื่อเตรียมตัวรับสิ่งดีๆที่กำลังจะเข้ามา พอตอนเย็นก็จะมีการ “ลอยกระทง” และมักจะอธิษฐานให้ทุกข์โศกโรคภัยไหลลอยออกไปพร้อมกับกระทง พอถึงวันที่สอง “วันเนา” คนหลวงพระบาง จะ ฟ้อนรำเพื่อแห่หุ่นปู่เยอย่าเยอและสิงห์แก้วสิงห์คำ เทวดาที่พวกเขาเคารพนับถือ วันรุ่งขึ้นซึ่งเป็น “สังขารขึ้น” ในตอนเช้า พวกเขาก็จะพากันเดินขึ้น “พูสี” เขาสูงกลางเมืองเพื่อตักบาตรพูสีซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ ส่วนตอนบ่ายก็จะเป็นประเพณีแห่ “นางสังขารหรือนางสงกรานต์”  ในวันที่สี่ซึ่งเป็นวันสุดท้ายคนหลวงพระบางจะอัญเชิญ “พระบาง” พระพุทธรูปคู่บ้าน คู่เมืองออกมาจากหอพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลครับ

ที่เมียนมา สงกรานต์เขาเรียกประเพณีตะจัน (Thingyan) แปลว่าเทศกาลน้ำซึ่งจะจัดกันใน “เดือน 1 หรือ ดะกูละ” ซึ่งก็จะ อยู่ในช่วง 12 ถึง 16 เมษายน สงกรานต์ที่เมียนมานั้นต้องบอกว่าสนุกแบบสุดเหวี่ยง ในหยั่นโกว่นหรือย่างกุ้งและมัณฑะเลย์นั้นจะมีเวทีคอนเสิร์ตใหญ่ๆ หลายเวที และจัดเอานักร้องดังมาเล่นเพลงมันๆหรือจัดเอาดีเจดังมาเปิดเพลงตื๊ดๆ ให้คนเมียนมาได้เต้นกันแบบลืมโลกแบบ 5 วันเต็มๆกันเลยทีเดียว แต่ที่ขาดไม่ได้คือทุกเวทีจะมีการฉีดน้ำใส่คนเต้นกันจนเปียกชุ่มฉ่ำกันเลยทีเดียว หลังจากสนุกกันอย่างเต็มที่พอถึงวันที่ 17 เมษายนซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ คนเมียนมาจะถือ ศีลและแต่งกายด้วยชุดประจำชาติเรียบร้อยสวยงาม และไปสักการะเจดีย์สำคัญๆในเมืองที่ตนเองอาศัยอยู่ เสร็จแล้วก็จะสรงน้ำพระประจำวันเกิด ต่อจากนั้นก็จะไปรดน้ำดำหัวพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่รวมถึงครูบาอาจารย์ และที่อะเมซิ่งแปลกไป จากไทยเราก็คือคนเมียนมานิยมไปสระผมให้ผู้เฒ่าผู้แก่ด้วยน้ำส้มป่อยครับ

[smartslider3 slider="9"]

NO COMMENTS