Amazing AEC – ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

0
653

เมื่อห้าหกปีที่แล้ว ตอนที่ผมเขียนหนังสือและเดินสายบรรยายบอกกับผู้คนทั่วประเทศว่าเมืองไทยเราไม่มียุทธศาสตร์ หลายคนก็เถียงผมว่าเป็นไปได้อย่างไรที่ไทยจะไม่มียุทธศาสตร์? สุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2558 เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติสมัยนั้นก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “…ยุทธศาสตร์ชาติถือเป็นเรื่องใหม่ในกลไกบริหารประเทศ….”

หลังจากนั้นมาผมก็ไม่จำเป็นต้องไปเถียงกับคนที่มาค้านผมอีกเลยว่าตกลงเมืองไทยเรามียุทธศาสตร์หรือไม่ ก็ขนาดเลขาฯ สภาพัฒน์เป็นคนออกมาบอกเองว่ายุทธศาสตร์ชาติเป็นเรื่องใหม่ แต่กลับมีคำถามใหม่ว่าแล้ว “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ” ที่เรามีมาแล้ว 12 ฉบับคืออะไร? ไม่ใช่ยุทธศาสตร์หรืออย่างไร คำตอบที่ได้คือ ไม่ใช่แต่เป็นแค่ “ไกด์ไลน์” หรือแนวทางให้รัฐบาลทั้งหลายเลือก แต่ก็ไม่ได้เป็นการบังคับว่าจะต้องทำตามแผนฯ ดังนั้นใครเข้ามาเป็น รัฐบาลไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือปฏิวัติ ก็สามารถพาประเทศไปในทางซ้ายขวาได้ตามอัธยาศัย

ในอดีตตอนที่ประเทศเพื่อนบ้านยังไม่สงบยังมีสงคราม ไทยเราเป็นประเทศเดียวที่สงบสุขไม่มีสงคราม ธุรกิจระดับโลก จึงเลือกมาลงทุนในเมืองไทยกันจนไทยเรา “โชติช่วงชัชวาลย์” ต่อมาเมื่อสงครามในประเทศเพื่อนบ้านสงบ และพวกเขา ตั้งหลักกันได้และเริ่มเขียนยุทธศาสตร์กัน สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป จนล่าสุดมีนักวิเคราะห์ระดับโลกหลายสถาบันคาด การณ์ตรงกันว่าอีกราวๆ 30 ปีเวียดนามจะแซงไทยเรา

ส่วนไทยเราหลังจากรู้ตัวแล้วว่า “ไร้ยุทธศาสตร์” ก็เริ่มตั้งคณะกรรมการมาร่างยุทธศาสตร์และสุดท้ายเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมาเราก็มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ( 2561 – 2580) กันอย่างเป็นทางการ

ในยุทธศาสตร์ชาตินั้น “ตำแหน่งประเทศ” ซึ่งต้องทำการวิเคราะห์สถานการณ์โลก และวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งโอกาส ความท้าทาย หรือ SWOT เสียก่อน นั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะไม่เช่นนั้นเราก็จะไม่รู้ว่าจะพัฒนาประเทศกันอย่างไร ถ้าการพัฒนาประเทศเป็นเหมือนการเดินทาง “ตำแหน่งประเทศ” ก็คือจุดหมายปลายทางนั่นเอง ว่าเราจะไปเชียงใหม่ หรือภูเก็ต คนที่จะร่วมเดินทางซึ่งหมายถึงคนทั้งประเทศก็จะได้รู้ว่าจะต้องเตรียมตัวเตรียมเสื้อผ้ากันอย่างไร แต่ถ้า ตำแหน่งประเทศไม่ชัดเจน ก็เปรียบเสมือนเราชวนเพื่อนไปเที่ยวแต่ไม่บอกเพื่อนว่าจะพาไปเที่ยวที่ไหนนั่นเอง

ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี วิสัยทัศน์ประเทศไทยคือ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการ พัฒนาตามหลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง” หรือสรุปสั้นๆเป็นคติพจน์ประจำชาติว่า “มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน”

“ความมั่นคงหมายถึง การมีความมั่นคงปลอดภัยจากภัยและการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศในทุกระดับ ทั้งระดับประเทศ สังคม ชุมชน ครัวเรือนและปัจเจกบุคคล และมีความั่นคงในทุกมิติ ทั้งมิติทางการทหาร เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการเมือง….”

“ความมั่งคั่งหมายถึง ประเทศไทยมีการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและมีความยั่งยืนจนเข้าสู่กลุ่มประเทศรายได้สูง ความเหลื่มล้ำของการพัฒนาลดลง ประชากรมีความอยู่ดีมีสุขได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น และมีการพัฒนาอย่างทั่วถึงทุกภาคส่วน มีคุณภาพชีวิตตามมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ ไม่มีประชาชนที่อยู่ใน ภาวะความยากจน เศรษฐกิจในประเทศมีความเข้มแข็ง ขณะเดียวกันต้องมีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ทั้งในตลาดโลกและตลาดภายในประเทศ….”

“ความยั่งยืนหมายถึง การพัฒนาที่สามารถสร้างความเจริญ รายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่อยู่บนหลักของการใช้ การรักษาและการฟื้นฟูฐานทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ไม่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติจนเกินพอดี ไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม….”

ผมลอกนิยามของมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืนมาให้อ่าน เพราะอาทิตย์หน้าจะมาบอกต่อว่าแค่เริ่มก็เขียนกันไม่เป็นเสียแล้ว !!

[smartslider3 slider="9"]