Amazing AEC – จุดอ่อนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ (จบ)

0
511

ตอนนี้จะเป็นสุดท้ายแล้ว เพราะให้เขียนต่อไปอีก 50 ตอน ก็คงจะไม่จบเพราะมีจุดอ่อนเยอะเหลือเกิน

แผนแม่บทฯ ด้านการบริการประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐ เขียนไว้อย่างดีว่าการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการ บริหารจัดการภาครัฐ เป็นทั้งเป้าหมายและเครื่องมือกลไกในการรองรับการขับเคลื่อนของยุทธศาสตร์ชาติด้านอื่นๆ ให้สามารถดำเนินการจนบรรลุเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่วางไว้ ในส่วนบทสรุปของผู้บริหารได้มีการเขียนถึงการประเมินความพึงพอใจของประชาชนในปี พ.ศ. 2561 ว่าคนไทย 84 เปอร์เซ็นต์พึงพอใจต่อการให้บริการของภาครัฐ ซึ่งน่าสงสัยมากใครเป็นคนวัด ทำไมความพึงพอใจดังกล่าวจึงสูงมากขนาดนั้น และอาจจะเป็นเพราะมั่นใจในคนวัดและวิธีการวัดอย่างมาก แผนแม่บทฯ จึงกล้าตั้งเป้าความพึงพอใจต่อการให้บริการของภาครัฐให้สูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เมื่อถึงปีพ.ศ. 2580

ในบทสรุปผู้บริหารยังเขียนเอาไว้อีกว่าเพื่อให้ภาครัฐมีประสิทธิภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับในเวทีโลกซึ่งสามารถสะท้อนได้จากดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในการจัดลำดับของ UN โดยไทยจะต้องอยู่ในอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ภายในปีพ.ศ. 2580 ดีขึ้นจากอันดับที่ 73 ในปัจจุบัน ถ้าผู้บริหารประเทศอ่านเพียงแค่นี้ก็คงจะต้องพึงพอใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเป้าหมายที่ท้าทายดีเยี่ยม แต่พอตรวจลงไปดูถึงตัวชี้วัดจริงๆกลับตั้งเป้าไว้แค่ให้ติดอันดับ 1 ใน 30 ของโลกเท่านั้นเอง เลยไม่รู้ว่าจริงๆแล้วเป้าหมายติด 1 ใน 10 หรือติด 1 ใน 30 นั้นเป้าไหนเป็นเป้าหมายที่แท้จริงกันแน่ ถือเป็นการเขียนแผนแม่บทฯ ที่สับขาหลอกทั้งผู้บริหารประเทศและประชาชนได้อย่างน่าตกใจจริงๆ เลย

แผนแม่บทฯ ด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมก็สับขาหลอกได้ไม่แพ้กัน เพราะในบทสรุปผู้บริหารเขียนเอาไว้ว่า “โดย ในปี 2561 สถาบันการจัดการ นานาชาติ ได้จัดอันดับประเทศไทยในโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อยู่ในอันดับที่ 42 ซึ่งปรับดีขึ้น 6 อันดับจากปี 2560 …..” ส่วนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีของไทยในปี 2561 กลับไม่เขียนถึงทำให้ ชวนสงสัยว่าจะตกลงเหมือนปี 2562 ที่ตกลงไปอีก ซึ่งถ้าผู้บริหารประเทศอ่านแบบผิวเผินก็จะหลงเข้าใจว่าไทยเราดีขึ้น ความจริงเวลาพูดถึงความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนานั้นเราจำเป็นต้องพูดถึงทั้งโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และด้านเทคโนโลยีควบคู่กันไป ขณะที่แผนย่อยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสังคมที่ตั้งเป้าหมายว่าคุณภาพ ชีวิตศักยภาพ ทรัพยากรมนุษย์และความเสมอภาคทางสังคมจะได้รับการยกระดับเพิ่มขึ้นจากผลการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเชิงสังคม ซึ่งดูเหมือนว่าน่าจะดี แต่พอดูตัวชี้วัดซึ่งจะใช้ “ดัชนีนวัตกรรมเชิงสังคม” ก็ยังจัดทำไม่เสร็จจึงไม่รู้ว่า ดัชนีที่ว่าหน้าตาเป็นแบบไหนและจะใช้วัดได้จริงหรือไม่ เป็นอีกแผนแม่บทในหลายๆ แผน ที่ตัวชี้วัดยังจัดทำไม่เสร็จ น่าตกใจมากที่แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติในหลายๆด้านยังไม่มีตัวชี้วัด

ในแผนแม่บทย่อยการบริหารจัดการการเงินการคลัง มีการเขียนถึงการทบทวน ศึกษา ปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างระบบและมาตรการทางภาษี ให้มีการจัดเก็บที่มีความเสมอภาคและเป็นธรรม มีประสิทธิภาพและใช้เป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำ ลดการสะสมความมั่งคั่งที่กระจุกตัว อ่านแล้วประทับใจเกิดความหวังเป็นอย่างมาก เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่น่าเป็นห่วงต้องรีบแก้ไข แต่พอตรวจลงไปดูถึงเป้าหมายและตัวชี้วัด กลับพบว่าไม่มีการเขียนถึงเป้าหมายและตัวชี้วัดอะไรเอาไว้เลย สงสัยคนเขียนจะแค่รู้ว่ามีปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่ไม่รู้จะใช้มาตรการภาษีแก้ไขอย่างไร จึงไม่มีการตั้งเป้าหมาย เมื่อไม่มีเป้าหมายก็ไม่จำเป็นต้องมีตัวชี้วัด และคงจะหวังไว้ลึกๆว่าคงจะไม่มีคนไปอ่านเจอ แต่โชคไม่ดีที่ผมเจอ จึงสรุปได้ว่าเรื่องความเหลื่อมล้ำนั้นจะยังอยู่กับสังคมไทยต่อไปอีกนาน น่ากังวลใจ

แผนแม่บทฯ ย่อยการสร้างและพัฒนาบุคลากรภาครัฐนั้น เน้นว่าบุคลากรภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการพัฒนาประเทศ ในแผนจึงเขียนแนวทางพัฒนาไว้ 4 แนวทาง ประกอบด้วย
1 ปรับปรุงกลไกในการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคน
2 สร้างความเข้มแข็งในการบริหารงานให้เป็นไปตามระบบคุณธรรมฯ
3 พัฒนาบุคลากรภาครัฐให้มีความรู้ความสามารถสูง มีทักษะการคิดวิเคราะห์ฯ
4 สร้างผู้นำทางยุทธศาสตร์ในหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่องฯ ซึ่งครอบคลุมดีแต่ตัวชี้วัดกลับมีเพียงแค่สองตัวคือ “ดัชนีความผูกพันของบุคลากรภาครัฐ” และ “สัดส่วนเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดกฎหมายลดลง” ซึ่งดัชนีแค่สองตัวนี้ไม่น่าจะสามารถวัดความสำเร็จของการสร้างและพัฒนาบุคลากรภาครัฐตามแผนฯได้ แค่ชื่อความผูกพันฯก็บอกอยู่แล้วว่าวัดความผูกพัน ไม่ได้วัดความสามารถ

[smartslider3 slider="9"]