Amazing AEC – คำขวัญวันเด็ก

0
562

“เด็กไทย ยุคใหม่ รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่พลเมืองไทย” คือคำขวัญวันเด็กประจำปีพ.ศ. 2563 ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งประกาศออกมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว นับเป็นคำขวัญที่ 7 ของท่าน หลังจากที่เมื่อปีสองปีที่แล้วซึ่งเรื่องจิตอาสาเป็นกระแสสำคัญของบ้านเมืองนายกฯ ประยุทธก็ได้เคยให้คำขวัญของปีพ.ศ. 2562 ว่า “เด็ก เยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ”

คำขวัญปีพ.ศ. 2561 “รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์ เทคโนโลยี” และคำขวัญปีพ.ศ. 2560 “เด็กไทย ใส่ใจการศึกษา พาชาติมั่นคง” อาจจะดูธรรมดาเมื่อเอาไปเปรียบเทียบกับคำขวัญของปีพ.ศ. 2559 และ 2558 ที่ว่า “เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้ สู่อนาคต” และ “ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต” เพราะทั้งสองปีนั้นมีคำว่า “สู่อนาคต” อยู่ซึ่งจากนี้ไป ถ้านายกฯประยุทธ์ยังอยู่ เด็กไทยคงไม่มีโอกาสได้คำขวัญที่มีคำว่า “อนาคต” อีกแต่อาจจะได้เห็นคำว่าพลังหรือประชารัฐ

ย้อนกลับไปปีพ.ศ. 2498 ซึ่งเป็นปีแรกที่ไทยเราจัดให้มีวันเด็กขึ้นในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมตามคำเชิญชวนขององค์การสหประชาชาตินั้น ไทยยังไม่มีคำขวัญวันเด็ก ปีต่อมาพ.ศ. 2499 ถึงเป็นปีแรกที่ไทยเรามีคำขวัญมอบให้เด็ก โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้คำขวัญว่า “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม” หลังจากนั้นก็เว้นว่างการให้คำขวัญไปอีกในช่วงปีพ.ศ. 2500 ถึง 2501

ต่อมาในปีพ.ศ. 2502 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งมีโอกาสมอบคำขวัญเด็ก 5 ปี โดยคำขวัญวันเด็กทั้งหมดนั้นเริ่มต้นด้วยประโยคเดียวกันหมดว่า “ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า……” แล้วก็ต่อท้ายด้วยคำสั่งแบบทหารเลยว่า “ …จงเป็นเด็กที่รักก้าวหน้า …จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด …จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย …จงเป็นเด็กที่ประหยัด… จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สุด” ตามลำดับ คำขวัญสุดท้ายนี้เป็นทหารชัดเจนดีเพราะไม่ได้สั่งให้ขยันหมั่นเพียรเฉยๆ แต่สั่งให้ขยันหมั่นเพียร “มากที่สุด” ด้วย

ต่อมาในปีพ.ศ. 2507 รัฐบาลได้มีมติในเดือนกุมภาพันธ์ให้เปลี่ยนการจัดวันเด็กไปเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ทำให้ปีพ.ศ. 2507 ไทยเราไม่มีการจัดงานวันเด็ก มาเริ่มมีอีกทีก็ในปีพ.ศ. 2508 ซึ่งเป็นสมัยของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งมีโอกาสมอบคำขวัญวันเด็กนานถึง 10 ปี โดยคำขวัญของปี 2516 เป็นคำขวัญที่เด็กและคนไทยน่าจะจำได้มากที่สุด คือ “เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ” ซึ่งตอนหลัง พลเอก เกรียงศักดิ์ ก็ได้เอาคำขวัญดังกล่าวมาปัดฝุ่นแก้ไขเล็กน้อย และมอบให้เด็กในปี 2521 ว่า “เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติมั่นคง”

นายกฯไทยแต่ละคน ต่างก็พยายามจะหาคำที่เหมาะสมกับยุคสมัย ใช้คำใหม่ๆที่พวกเขาคิดว่ากำลังอินเทรนด์ หรือสังคมไทยกำลัง “ขาด” มาใส่ในคำขวัญวันเด็ก เช่นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 บ้านเมืองต้องการความสามัคคี คำขวัญวันเด็กของรัฐบาลอ.สัญญา ธรรมศักดิ์ในปีพ.ศ.2517 จึงเป็น “สามัคคีคือพลัง” ส่วนปีต่อมาก็ยังเป็นเรื่องความสามัคคี “เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี”

รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นสมัยแรกที่มีคำประเภท “ซื่อสัตย์ คุณธรรมและนิยมไทย” อยู่ในคำขวัญวันเด็ก โดยมีตั้งปีพ.ศ. 2524 ซึ่งเป็นปีแรกของการเข้ามาเป็นนายกฯ ว่า “เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม” พลเอกเปรมนั้นให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับ “คุณธรรม” จะเห็นได้ว่าจากคำขวัญทั้ง 8 ปีของท่านนั้นเป็นคำขวัญซึ่งเน้นให้เด็กมีคุณธรรมถึง 6 ปีด้วยกัน

นอกจากจะเน้นความมีคุณธรรมแล้ว พลเอกเปรมยังเน้น “ความประหยัด” โดยได้ใช้ในคำขวัญถึง 5 ปีและได้แสดงให้เด็กเห็นถึงการประหยัดของท่านด้วยการใช้คำขวัญเดียวซ้ำกันนานถึงสามปี ในช่วงปีพ.ศ. 2529-31 คือ “นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม” นับเป็นการให้คำขวัญซ้ำกันเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ก่อนที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณและคุณชวน หลีกภัย จะทำตามในปีต่อๆมา โดยเฉพาะคุณชวนที่ได้ให้คำขวัญซ้ำกันถึงสามครั้งในรอบ 6 ปีเลยทีเดียว

[smartslider3 slider="9"]