Amazing AEC – ข้าวปอซาน

0
565

วันจันทร์ที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา เมียนมาเขากำหนดให้เป็นวันชาวไร่ชาวนาและถือเป็นวันหยุดราชการเพื่อจะเป็นการยกย่องชาวไร่ชาวนาที่เป็นกำลังสำคัญในการผลิตข้าวปลาอาหารเลี้ยงคนในชาติ แต่บางคนก็ว่าที่เลือกเอาวันนี้ก็เพราะต้องการให้นึกถึงนายพลเนวิน ซึ่งเป็นคนริเริ่มเรื่องการปฏิรูปที่ดินเพื่อชาวไร่ชาวนาซึ่งได้กลับมาเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2505

พูดถึงชาวไร่ชาวนาแล้ว ผมเลยอยากเขียนถึง “ข้าวปอซาน” ของเมียนมาซึ่งเป็นข้าวที่เคยได้รับการตัดสินให้เป็น “ข้าวที่ดีที่สุดในโลก” มาแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2554 ในการประกวดที่โฮจิมินห์ซิตี้ เวียดนาม

การประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลกนั้นเริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2552 ในการประชุมข้าวโลกที่เมืองเซบู ฟิลิปปินส์ โดยเขาจะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและพ่อครัวที่มีชื่อเสียง มาทำการชิมข้าวแบบไม่รู้ว่าข้าวที่เข้าประกวดนั้นมาจากไหน โดยกรรมการจะตัดสินจาก กลิ่น รสชาติ ความเหนียวนุ่มและรูปร่างลักษณะของเมล็ดข้าวทั้งก่อนและหลังหุง

Amazing AEC - ข้าวปอซาน

ในการประกวดสองครั้งแรกนั้น “ข้าวหอมมะลิ” ของไทยชนะเลิศ แต่พอปีต่อมาคือปี พ.ศ. 2554 ผลปรากฎว่า “ข้าวปอซาน”  จากเมียนมาเฉือนเอาชนะข้าวหอมมะลิไทยไปอย่างหวุดหวิด ที่ในปีนั้นข้าวปอซานเอาชนะใจกรรมการได้ก็เพราะรูปทรงก่อนและหลังหุงที่แตกต่างกันอย่างน่าอะเมซิ่ง ลักษณะเมล็ดข้าวปอซานก่อนหุงนั้นจะมีลักษณะเมล็ด กลมหนา ป้อมๆ สั้นๆ คล้ายไข่มุกหรือข้าวญี่ปุ่น ฝรั่งบางคนถึงกับเรียกข้าวปอซานว่า “ข้าวไข่มุกจากเมียนมา”  แต่พอหุงสุกแล้ว เมล็ดข้าวกลับจะยาวขึ้นมากกว่าเดิมถึง 3-4 เท่าตัว ยาวจนดูเหมือนข้าวสวยที่คนไทยเราทานกันประจำ

ที่หลังจากหุงสุกแล้วเมล็ดยาวขึ้นมากถึง 3 หรือ 4  เท่าก็เพราะข้าวปอซานนั้นมีค่าอะไมโลสค่อนข้างสูง ซึ่งการที่มีอะไมโลสสูงนี่เองที่ทำให้ข้าวปอซานมีความแข็งกระด้าง ไม่นิ่มนวลเหมือนข้าวหอมมะลิของไทย สำหรับคนไทย ผมคิดว่าส่วนมากน่าจะชอบข้าวหอมมะลิของเรามากกว่า แต่ถ้าเป็นคนชอบทานข้าวออกแข็งๆ นิดหน่อยแล้วได้ลองข้าวปอซานก็อาจจะปันใจไปชอบข้าวปอซานของเขาได้เหมือนกัน ถ้าได้ไปเที่ยวเมียนมาแล้วอยากซื้อมาชิม ขอให้เลือก ข้าวใหม่นิดนึงนะครับ เพราะถ้าเป็นข้าวปอซานเก่าแล้วนอกจากกลิ่นจะไม่ค่อยหอมแล้ว พอหุงเสร็จข้าวจะออกร่วน จนไม่น่าทานเลยทีเดียว

ข้าวปอซานมีหลายพันธุ์ พันธุ์ที่รับความนิยมมากที่สุดคือ “ข้าวปอซานมุย” บริเวณที่ปลูกข้าวปอซานได้ดีและปลูกเยอะที่สุดอยู่ที่แคว้นสะกายและแคว้นเอยาวดี (คนไทยเรียกอิระวดี) แต่ก็ปลูกได้ไม่เยอะ ปีๆ หนึ่งผลิตได้ไม่ถึงล้านตันข้าวสาร หรือคิดเป็นเพียง 5-6 % ของกำลังการผลิตข้าวสารทั้งหมดของประเทศ เพราะผลิตได้น้อยเลยทำให้ข้าวปอซานมีราคาแพง กว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ เกือบๆ สองเท่า และมีเหลือพอส่งออกไม่กี่พันตันเท่านั้น

ในอดีตเมียนมานั้นเคยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ แต่ด้วยปัญหาภายในประเทศเมียนมาเลยไม่ค่อยได้ส่งออกข้าวมากนัก แต่ปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ เริ่มเข้าที่เข้าทาง เมียนมาร์ก็เริ่มหันมาสนใจพัฒนาพันธุ์ข้าวและเริ่มกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้ง

ข้าวปอซานแค่น่าอะเมซิ่งในแง่เมล็ดที่แตกต่างกันมากก่อนหุงและหลังหุง แต่ข้าวของ AEC ที่ผมคิดว่าน่าอะเมซิ่งที่สุด ก็คือข้าวหอมมะลิจากกัมพูชา เพราะสามปีหลังสุดของการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก ปรากฎว่าข้าวหอมมะลิจากกัมพูชาคว้ารางวัลชนะเลิศทั้งสามปีเลยครับ พุธหน้ามาอะเมซิ่งกันต่อครับ

[smartslider3 slider="9"]