AEC for happy family : เลี้ยงลูกให้สร้างสรรค์ ก้าวทัน AEC

0
408
AEC for happy family : เลี้ยงลูกให้สร้างสรรค์ ก้าวทัน AEC

AEC  for  Happy Family  กับ เกษมสันต์ (พฤษภาคม 2557)

เลี้ยงลูกให้สร้างสรรค์ ก้าวทัน AEC

เวลาที่เวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่มหรือเวทีเศรษฐกิจโลกเขาจัดลำดับความสามารถในการแข่งขันว่าแต่ละประเทศมี ความสามารถในการแข่งขันมากน้อยเพียงใด เขาจะแบ่งประเทศออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆนะครับ

กลุ่มแรกคือประเทศที่อาศัยปัจจัยการผลิตเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พูดง่ายๆก็คือประเทศ ที่มีรายได้จากการขายทรัพยากรธรรมชาติ ขายวัตถุดิบ รายแรงงานราคาถูก ถ้าจะขายสินค้าสำเร็จรูปก็มักจะเป็น สินค้าพื้นๆที่การผลิตไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอะไรมากมาย ซึ่งใน AEC ประเทศที่อยู่กลุ่มนี้ก็เช่น เวียดนาม กัมพูชา และพม่าครับ

ส่วนกลุ่มที่สองคือประเทศที่อาศัยประสิทธิภาพเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือเก่งกว่ากลุ่มแรกขึ้นมาหน่อย เพราะประเทศมีประสิทธิภาพมากกว่า เวลาที่จะแข่งขันกับประเทศอื่นๆก็ยังสามารถเอาเรื่องประสิทธิภาพ มาสู้กันได้ ไทยเราอยู่ในกลุ่มนี้นะครับ เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ส่วนมาเลเซียที่ตอนนี้อยู่ในกลุ่มนี้ กำลังจะข้ามไปอยู่อีกกลุ่มถัดไปซึ่งมีความสามารถในการแข่งขันมากกว่าครับ

กลุ่มที่มาเลเซียกำลังจะก้าวข้ามหน้าไทยมาอยู่คือกลุ่มประเทศที่อาศัย “นวัตกรรม” เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประเทศในกลุ่มนี้ถือว่าเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันดีที่สุดในโลกนะครับ เป็นกลุ่มประเทศที่ ทำมาค้าขายได้ด้วยความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้น มีความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและ ความคิดสร้างสรรค์ ประเทศใน AEC ที่อยู่ในกลุ่มนี้ก็คือ สิงคโปร์ครับ ส่วนประเทศในเอเชียที่อยู่ในกลุ่มนี้ก็เช่น ญี่ปุ่นและฮ่องกงครับ

ประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันดีที่สุดสิบอันดับแรกของโลก ทั้งหมดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีนวัตกรรม เป็นตัวขับเคลื่อนประเทศทั้งสิ้นนะครับ ผมขอเรียงลำดับให้ดูกันนะครับว่าทั้งสิบอันดับนี้มีประเทศอะไรบ้าง  เริ่มที่ สวิสเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ฟินแลนด์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน สหรัฐฯ อังกฤษ ฮ่องกงและญี่ปุ่นครับ

สิงคโปร์อยู่ที่สองของโลกเลยนะครับ บางปีสิงคโปร์เขาก็เป็นที่หนึ่ง ส่วนไทยเราอยู่อันดับสามสิบปลายๆนะครับ จากร้อยกว่าประเทศที่เขาจัดอันดับกัน คงหายแปลกใจแล้วนะครับว่าทำไมประเทศเล็กๆที่ใหญ่กว่าเกาะภูเก็ต ของเรานิดเดียวถึงได้เจริญเติบโตมากมายกว่าไทยเรา รายได้คนสิงคโปร์มากกว่าคนไทยเกือบสิบเท่าเลยนะครับ คนสิงคโปร์เขามีรายได้เฉลี่ยคนละหนึ่งล้านเจ็ดแสนบาทเศษขณะที่คนไทยเรามีรายได้เฉลี่ยคนละ หนึ่งแสนแปดหมื่นบาทเศษเท่านั้น

ตอนที่มาเลเซียประกาศจะพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตอนนั้นคนของเขามีรายได้ เฉลี่ยคนละเจ็ดหมื่นบาทเศษมากกว่ารายได้เฉลี่ยของคนไทยที่มีคนละห้าหมื่นบาทเศษ มาตอนนี้คนมาเลเซีย มีรายได้เฉลี่ยคนละเกือบๆสามแสนห้าหมื่นบาทแล้วนะครับ มากกว่าไทยเราเกือบสองเท่า

นวัตกรรมนั้นแปลง่ายๆก็คือการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ด้วยความรู้และความคิดที่สร้างสรรค์ สิ่งใหม่ๆที่ว่านี้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะที่เป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เท่านั้นนะครับ แต่ยังหมายถึงกระบวนการคิดและวิธีการทำงาน หรือทำสิ่งต่างๆอีกด้วย โดยหัวใจของการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ คือ “ความคิดสร้างสรรค์” นะครับ หากมีแต่ความรู้แต่ไม่มีความคิดที่สร้างสรรค์ นวัตกรรมก็เกิดไม่ได้

คำถามสำคัญคือคุณแม่คุณพ่อจะต้องเลี้ยงลูกรักอย่างไรให้ลูกเติบโตมาเป็นคนที่สร้างสรรค์ ก้าวทัน AEC เพราะตอนนี้เราเห็นชัดเจนแล้วว่าโลกในอนาคตใครมีความคิดสร้างสรรค์กว่าจะเป็นผู้ชนะ

ลูกเราตอนเกิดใหม่ๆ เขา “พร้อมและอยากที่จะเรียนรู้” เป็นแสนเป็นล้านเรื่องเลยนะครับ สังเกตดูสิครับ ตอนลูกรักยังเล็กๆอยู่ เขาเห็นอะไรก็อยากจะหยิบอยากจะจับ ถ้าแกะได้เขาก็จะพยายามแกะ ถ้ากดได้เขาก็พยายามจะกด นั่นแหล่ะครับสัญญาณของความ “พร้อมและอยากจะเรียนรู้” ของลูกรัก

แล้วคุณแม่คุณพ่อ “ตอบสนอง” ลูกรักที่อยากจะเรียนรู้อย่างไรครับ? “ห้าม” ใช่มั้ยครับ อย่าเล่นนะลูกเดี๋ยวมันเสีย อย่าซนนะลูก รู้มั้ยครับตอนที่คุณแม่คุณพ่อ “ห้าม” ลูกรักด้วยคำว่า “อย่า” นั่นแหล่ะครับเป็นตอนที่เรา “ฆ่า” ความอยากที่จะเรียนรู้ ซึ่งหมายความว่าเรากำลังทำลายโอกาสของลูกรักที่จะเติบโตมาเป็นคนที่มีความคิด สร้างสรรค์ เพราะตอนลูกรักยังเล็กสมองของเขายังมี “พื้นที่ว่าง” อีกเยอะให้เติมสิ่งใหม่ๆเข้าไป ยังมีเส้นใยสมอง ส่วนที่อยากรู้อยากเห็นอีกเยอะ แต่พอคุณแม่คุณพ่อบอกว่า “อย่าๆๆๆ” สมองลูกรักก็จะค่อยๆจำเอาไว้ว่า เขา “ไม่ควร” จะสนใจในสิ่งใหม่ๆที่เขาเห็น เขา “ไม่ควร” จะหยิบของที่เขาไม่เคยเห็นและสนใจมาดู เขา “ไม่ควร” จะอยากรู้ว่าของเหล่านั้นมันทำงานยังไง

ลองเปลี่ยนใหม่ดีมั้ยครับ พอลูกหยิบจับอะไรขึ้นมา แทนที่จะห้ามผมแนะนำให้ลองเล่นกับเขาดู สมมุติลูกรัก หยิบรีโมทโทรทัศน์มากดเล่นแทนที่เราจะห้ามเพราะกำลังสนุกกับละครเรื่องที่กำลังดู คุณแม่คุณพ่อควรจะเล่น กับเขา ลองดูสิว่าเขาอยากทำอะไรกับรีโมทอันนั้น ปล่อยให้เขาทำแล้วให้เขาดูผลที่เกิดขึ้น แล้วก็คุยกับลูกรักดูว่า พอกดปุ่มนั้นแล้วผลเป็นอย่างไร? ทำไมเวลากดแต่ละปุ่มแล้วผลออกมาต่างกัน รูปบนปุ่มแต่ละปุ่มหมายความว่า อย่างไร เล่นให้เขาทายก่อนแล้วค่อยกด แล้วค่อยๆอธิบายลูกรักว่าทำไมกดรีโมทแล้วทีวีจึงเปลี่ยนช่องได้หรือ เสียงดังเปลี่ยนไปได้ หรือจะลองชวนไปเล่นกับรีโมทแอร์ รีโมทเครื่องเสียงด้วยดีมั้ยครับ ชวนลูกรักดู สัญญลักษณ์บนรีโมทต่างๆ แล้วเรียนรู้ความหมายด้วยกัน

ลองแกะรีโมทออกมาดูถ่านด้วยดีมั้ยครับแล้วลองอธิบายลูกรักว่ารีโมททำงานอย่างไร ทำไมเวลาเอาถ่าน ก้อนเล็กๆเหล่านั้นออก รีโมทก็ใช้งานไม่ได้ ลองเอาถ่านออกก้อนเดียวดู ให้ลูกทายว่ารีโมทจะทำงานได้มั้ย

“ไม่มั่นใจ” ใช่มั้ยครับว่าจะอธิบายลูกได้ชัดเจนนักว่ารีโมทคอนโทรลทำงานอย่างไร นั่นไงครับผลจากการที่เรา โดนเลี้ยงมาแบบ “อย่าๆๆนะลูก” ตอนที่เราเป็นเด็ก สมองส่วนอยากรู้อยากเห็นเรามันตายไปแล้วไงครับ

ถ้าอยากจะเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ คุณแม่คุณพ่อต้องทำ “สมองให้ว่าง” เหมือนลูกรักนะครับ เห็นอะไรก็เหมือนไม่เคยเห็น เห็นอะไรก็อยากรู้อยากจับอยากแกะไปหมด ให้นึกเสมอว่าเราไม่เคยรู้เราไม่เคยเห็น ไม่ใช่อะไรก็รู้ไปซะหมดแล้ว อะไรๆก็เลยไม่น่าสนใจ

ลูกรักเขาไม่เคยเห็นนะครับ เอาแค่ขวดพริกไทขวดเกลือบนโต๊ะอาหาร ลูกรักยังอยากรู้อยากเล่นเลยใช่มั้ยครับ ปล่อยให้เขาเล่นเลยครับ แต่ต้องพูดคุยกับเขาด้วยว่า ต้องหยิบจับแบบไหน เพราะอะไร ถ้าเล่นไม่ดีแล้วพริกไท เข้าจมูกลูกจะจาม ทำไมถึงจาม? อ้าว ตอบไม่ได้อีกแล้วใช่มั้ยครับทำไมถึงจาม?

มีเรื่องใกล้ๆตัวมากมายนะครับที่อธิบายลูกรักไม่ได้ นั่นเป็นเพราะเรา “ใส่ใจไม่เพียงพอ” กับความสงสัยในสมอง ของลูกรัก ถ้าอยากจะเลี้ยงเขาให้โตมามีความคิดสร้างสรรค์ คุณแม่คุณพ่อต้องทำการบ้านให้เยอะมากขึ้น สนใจ สิ่งรอบตัวให้เหมือนเราเพิ่งเคยเห็น พยายามหาคำตอบให้ตัวเองให้ได้ แล้วให้เวลากับลูกอย่างจริงจังและสนุก

หน้าร้อนนี้ไปทะเลแล้วอย่าลืมอธิบายกับลูกรักนะครับ ว่าทำไมทะเลถึงมีสีฟ้าและทำไมน้ำทะเลถึงเค็ม?

[smartslider3 slider="9"]