AEC for Happy Family : เรียกพม่าหรือเมียนมา ดี?

0
590
AEC for Happy Family : เรียกพม่าหรือเมียนมา ดี?

AEC for Happy Family กับเกษมสันต์ (ธันวาคม 2557)

เรียกพม่าหรือเมียนมา ดี?

คุณแม่คุณพ่อจำตอนเด็กๆที่เรียนวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์กันได้บ้างมั้ยครับ ผมจำได้ว่าตอนที่เรียนนั้น พอคุณครูบอกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่ชื่อประเทศ “พม่า” นั้นเข้ามารบมารุกรานกับเมืองไทย หลายครั้งหลายหน นั้นทำให้ผมเกิดความรู้สึกไม่ชอบเพื่อนบ้านประเทศนี้ขึ้นมาทันใด

และพอคุณครูสอนว่าเมืองหลวงของประเทศนี้ชื่อเมือง “ย่างกุ้ง” ผมก็เกิดความสงสัยขึ้นมาทันทีว่า คนประเทศนี้ เขาคงชอบกินกุ้งเผากันมาก ชอบมากขนาดที่เอามาตั้งเป็นชื่อเมืองหลวงกันเลยทีเดียวหรือ นั่นเป็นความทรงจำ ในอดีต ก่อนที่ผมจะหันมาศึกษาประเทศเพื่อนบ้านกันอย่างจริงจัง คุณแม่คุณพ่อก็คงจะจำได้คล้ายๆผมนะครับ

วันนี้ลองมาอ่านประวัติศาสตร์ประเทศนี้ฉบับเกษมสันต์กันใหม่นะครับ อ่านจบแล้วถ้าชอบก็ลองหาเวลาเล่าให้ ลูกรักฟัง และถ้าเป็นไปได้ลองพาลูกรักไปเที่ยวประเทศนี้ดูนะครับ

ประเทศเพื่อนบ้านเรานี้มีชื่อเดิมว่า “เมียนมา” ออกเสียงว่า “เมียนม่า” มานานแล้ว ผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้ เป็นชนเผ่ามากมายครับ มีชนเผ่า “บะหม่า” เป็นชนเผ่ากลุ่มใหญ่ของประเทศ มีราวๆ 60% ของประชากรทั้งหมด มีอีก  7 เผ่าหลักซึ่งอาศัยอยู่ตามรัฐต่างๆล้อมรอบชาวบะหม่าอยู่ อาทิรัฐมอญ ยะไข่ ฉาน คะหยิ่น คะฉิ่น ชินและคะยา และยังมีชนเผ่าย่อยๆอีกนับร้อยชนเผ่า

ชนเผ่าต่างๆของเมียนมานี่ไม่เหมือนกับคนภาคต่างๆของเมืองไทยนะครับ เพราะแต่ละชนเผ่านั้นเขามีภาษาเป็น ของตัวเขาเอง ตัวอักษร การออกเสียง ศัพท์แสงทั้งหลายก็ไม่เหมือน กันเลย ไม่เหมือนภาษาไทยสำเนียงเหนือ ใต้ อิสานนะครับเป็นคนละภาษากันเลย ถ้าคนแต่ละชนเผ่าไม่ได้เรียนภาษาของอีกชนเผ่าหนึ่ง เขาจะสื่อสารกัน ไม่ได้เลย นอกจากนี้แต่ละชนเผ่ายังมีธงของตนเอง มีขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม มีอาหารการกินแบบของตนเอง ที่สำคัญเขามีความภูมิใจในเผ่าของตนเอง และต้องการจะเป็นประเทศหรือเป็นรัฐอิสระตั้งแต่อดีตนานมาแล้ว

เมื่ออังกฤษเข้ามาปกครองประเทศนี้ ชื่อเมืองต่างๆและเมียนมาได้อย่างชัดเจน คนอังกฤษจึงเรียกชื่อประเทศนี้ ตามชื่อชนเผ่ากลุ่มใหญ่ที่ชื่อ “บะหม่า”  ว่า “BERMA” ทำให้ไทยเราเรียกเขาว่า “พม่า” ตามเสียงภาษาอังกฤษ

พอคนอังกฤษเปลี่ยนการเรียกชื่อประเทศนี้จาก “เมียนมา” เป็น “เบอร์มาร์” ก็ยุ่งสิครับเพราะทำให้ชนเผ่าต่างๆ เกิดความไม่พอใจ เช่นไปเรียกชาวไทยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในรัฐฉานว่าเป็น เบอร์มาร์หรือบะหม่า เขาก็ไม่ยอมรับ สิครับเหมือนๆกับการไปเรียกชาวกระเหรี่ยง ที่อาศัยอยู่ในรัฐคะหยิ่นว่าบะหม่าเขาก็ไม่ยอมรับและไม่พอใจ เหมือนกัน ทุกชนเผ่าไม่มีชนเผ่าไหนยอมรับการยัดเยียดให้เขาเป็นคนอีกชนเผ่าที่เขาไม่ได้เป็น ก็เลยเกิดปัญหา ความเป็นเอกภาพของประเทศและความสมัครสมานสามัคคี

เมื่อมีจังหวะรัฐบาลจึงเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “Burma” กลับมาเป็น “Myanmar” ซึ่งมีความหมายที่ดีว่า “แข็งแรง อย่างรวดเร็ว” เมื่อมีชื่อกลางๆขึ้นมา ชนเผ่าต่างๆจึงรู้สึกสบายใจขึ้นที่จะถูกเรียกว่าเป็นชาวเมียนมาร์สบายใจมาก กว่าที่จะถูกเรียกว่าเป็นชาวบะหม่า ธงเมียนมาร์ที่รัฐบาลเอาไปให้ชนเผ่าต่างๆใช้ เขาก็สบายใจ มากกว่าที่จะ ใช้คู่กับธงของชนเผ่าเขาเอง ความรู้สึกเป็นชาติเป็นหนึ่งเดียวกัน ความสามัคคีกันก็ค่อยๆมีมากขึ้นเรื่อยๆ

ตั้งแต่สหภาพพม่าเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสหภาพเมียนมาในปี พ.ศ. 2532 และมาเปลี่ยนอีกครั้งเป็น สาธารณรัฐ แห่งสหภาพเมียนมา คนไทยส่วนมากไม่สนใจว่าทำไมเขาต้องเปลี่ยนชื่อ แถมยังยืนยันจะเรียกเขาว่าพม่าต่อไป ด้วยเหตุผลที่ว่ามีตั้งหลายประเทศที่เราเรียกชื่อประเทศไม่ตรงกับภาษาอังกฤษ เช่นประเทศ Japan เราก็เรียกญี่ปุ่น หรือประเทศ Portugal เราก็เรียก ปอร์ตุเกส เพราะฉะนั้นประเทศนี้จะเรียก Burma หรือ Myanmar นี้เราก็เรียก “พม่า” ต่อไป

จริงอยู่ครับ เราจะเรียกเขาว่าอะไรก็เป็นสิทธิของเรา แต่ถ้ารู้เหตุผลที่ไปที่มาแบบนี้แล้วเราซึ่งเป็นเพื่อนบ้าน ติดกันยังจะยืนยันว่าเราจะเรียกเขาว่า “พม่า” ด้วยเหตุผลที่ว่า เราคุ้นปากที่จะเรียกแบบนั้นกันอยู่ เราจะดูใจ จืดใจดำมากไปหน่อยมั้ยครับ?

นึกถึงตัวเราเอง ถ้าเราเปลี่ยนชื่อเพราะชื่อเดิมใช้แล้วเกิดปัญหา ชีวิตมีแต่เรื่องวุ่นวาย พอเราได้ชื่อใหม่ที่ดีและเป็น มงคลกับชีวิตเรา แต่เพื่อนเราเจอหน้ากันทีไรก็ยังเรียกชื่อเดิมเราทุกที เพื่อนแบบนี้จะรักกันได้มั้ยครับ?

ชื่อเมืองหลวงของเขาก็เหมือนกัน เมืองหลวงในอดีตของเมียนมานั้นมีชื่อว่า  “หยั่นโกว่น” ชื่อนี้ตั้งมาตั้งแต่ สมัยพระเจ้าอลองพญาซึ่งนำทัพลงมายึดเมืองจาก ชนเผ่ามู่น (หรือมอญในภาษาไทย) ก็เลยตั้งชื่อนี้ที่มีความหมาย ว่า “ปราศจากศัตรู” เพราะได้ปราบและขับไล่ชาวมู่นซึ่งตอนนั้นเป็นศัตรูกันไปให้พ้นเมืองไปได้แล้ว คนอังกฤษ ซึ่งฟังไม่ชัดออกเสียงก็ไม่เป็นก็เลยเรียกเมืองนี้ว่า “Rangoon” ไทยเราก็เลยเรียก “ร่างกุ้ง” พอพ้นจากอังกฤษ เมียนมาเขาเลยเรียกชื่อเมืองเขาว่า “หยั่นโกว่น” อย่างเต็มปาก แต่ภาษาอังกฤษที่มีตัวอักษรจำกัดจึงเขียนได้แค่  “Yangon” ซึ่งไทยเราก็เพี้ยนตามภาษาอังกฤษต่อว่า “ย่างกุ้ง”

พอคุณครูสอนว่า “ประเทศพม่า” มีเมืองหลวงชื่อ “ย่างกุ้ง”  ลูกรักคงมีคำถามในใจทันทีว่าประเทศนี้เขาชอบทาน กุ้งเผากันมากๆเลยเหรอ เหมือนที่เราเคยสงสัย? แต่ถ้าคุณแม่คุณพ่อสอนลูกรักว่าเมืองนี้ชื่อ “หยั่นโกว่น” พร้อม อธิบายที่มาและความหมายที่ถูกต้องตั้งแต่แรกก็จะทำให้ลูกรักรู้จักประเทศเพื่อนบ้านดีขึ้นตั้งแต่ยังเด็ก สอนแบบนี้ผมว่าน่าจะดีกว่า อ้อเมืองหลวงปัจจุบันของเมียนมาเขียนว่า “ Nay Pyi Taw” อ่านว่า “เนบิด่อ”  แปลว่า “ราชธานีที่ยิ่งใหญ่” ครับ

อีกเรื่องที่ผมอยากจะชวนคิดชวนคุณแม่คุณพ่อเปลี่ยนก็คือการเรียกชื่อเมือง ชื่อคน ชื่อสิ่งของของประเทศเพื่อน บ้าน เราน่าจะสอนให้ลูกรักเรียกชื่อเหล่านี้ให้ใกล้เคียงกับภาษาท้องถิ่นของเพื่อนเราให้มากที่สุด ภาษาไทยเป็น ภาษาที่ร่ำรวยเสียง มีตัวอักษร มีสระและ มีวรรณยุกต์มากมาย มีมากเหลือเฟือที่จะออกเสียงภาษาไหนๆในโลกนี้ ได้อย่างชัดเจน แล้วทำไมเราจะต้องจำกัดตัวเองไปเรียกเพื่อนบ้านตามเสียงภาษาอังกฤษซึ่งมีเสียงน้อยกว่าเราเยอะ

ทีเวลาสอนภาษาอังกฤษเรายังพยายามจะให้ลูกรักออกเสียงออกแอ็คเซ่นให้ชัดเหมือนภาษาอังกฤษต้นฉบับ แต่พอ เป็นชื่อต่างๆของประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดเรากลับละเลยและไม่สนใจที่จะออกเสียงเรียกชื่อต่างๆของเขาให้ชัด เจน แปลกดีนะครับ

คนไทยเวลาไปเที่ยวเมียนมามักจะมองประเทศนี้แบบแอบแค้นเล็กๆลึกๆว่า เขาเคยมารุกรานบ้านเรา เวลาไปเที่ยว ก็เลยไปเที่ยวแบบไม่มีความสุขเต็มร้อยแต่จะมีคนไทยซักกี่คนที่รู้ว่าคนเมียนมานั้น นอกจากจะเป็นคนธรรมะ ธรรมโมมากๆแล้ว เขายังรักและชื่นชมคนไทยมากๆ ที่สำคัญเขาไม่เคยรู้ว่าเราเคยรบกัน

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ฉบับหน้าผมจะมาเขียนประวัติศาสตร์เมียนมาให้อ่านต่อครับ

[smartslider3 slider="9"]