Home Mother & Care AEC HAPPY FAMILY AEC for Happy Family : สอนลูกรักให้เป็นเจ้านายโรบ็อท

AEC for Happy Family : สอนลูกรักให้เป็นเจ้านายโรบ็อท

0
435
[smartslider3 slider="7"]
AEC for Happy Family : สอนลูกรักให้เป็นเจ้านายโรบ็อท

AEC for Happy Family กับเกษมสันต์ / กุมภาพันธ์ 2560

สอนลูกรักให้เป็นเจ้านายโรบ็อท

เทคโนโลยีสมัยนี้ก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดจริงๆ นะครับคุณแม่คุณพ่อ จากแต่เดิมกว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปอีกระดับหนึ่งนั้นจะต้องใช้เวลานานถึงสองสามปี แต่ในสมัยปัจจุบันเทคโนโลยีทั้งหลายเปลี่ยนแปลงกันแทบจะทุกสองหรือสามเดือนเลยทีเดียว ผมจำได้ว่าเพิ่งเขียนเรื่อง  Internet of Things ให้อ่านกันเมื่อไม่นานมานี้เอง ตอนนี้ใกล้จะเป็นจริงละ

ถ้าคุณแม่คุณพ่อจะพอจำได้ว่าเพิ่งจะไม่นานมานี้เองที่เราได้ยินเรื่องรถยนต์ขับอัตโนมัติ วันนี้รถยนต์บางยี่ห้อ ทดสอบรถยนต์ขับอัตโนมัติไปได้เป็นหลักพันล้านกิโลเมตรเข้าไปแล้ว ซึ่งหมายความว่ารถยนต์อัตโนมัติที่เรา คิดว่าคงจะอีกนานกว่าจะเป็นความจริง วันนั้นกำลังใกล้เข้ามาแล้ว ที่น่าสนใจก็คือด้วยความก้าวหน้าของ เทคโนโลยีนั้นทำให้การทดสอบบนถนนจริงเป็นพันกิโลเมตรเกิดอุบัติเหตุแค่เพียงครั้งเดียว แต่ไม่ใช่อุบัติเหตุ ที่เกิดขึ้นจากคอมพิวเตอร์แต่เกิดขึ้นเพราะคนที่นั่งอยู่ในรถตัดสินใจเหยียบคันเร่ง หวังจะไปให้พ้นไฟเหลือง เลยทำให้เกิดอุบัติเหตุไปชนกับรถคันอื่น นี่ถ้าปล่อยให้รถหยุดตามที่คอมพิวเตอร์ ตัดสินใจไปแล้ว อุบัติเหตุก็ คงจะไม่เกิดขึ้น คนหนอคน

ที่น่าตื่นเต้นก็คือวันนี้บางเมืองในยุโรปที่ตั้งเป้าจะเป็นสมาร์ทซิตี้ กำลังวางแผนจะสร้างระบบไฟควบคุมจราจรให้ “คุย” กับ “รถอัตโนมัติ” ได้ โดยรถอัตโนมัติจะส่งสัญญาณการขับขี่ทุกอย่างไปยังระบบไฟควบคุมจราจร ระบบ ก็จะคำนวณวางแผนเปิดไฟแดงไฟเขียวให้สอดคล้องกับปริมาณและทิศทางของทั้งรถส่วนตัวอัตโนมัติ และรถ สาธารณะอัตโนมัติ ทำให้การจัดการจราจรของเมืองมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

หรืออย่างโดรนที่คุณแม่คุณพ่อคงจะเคยได้ยินว่าหลายบริษัทกำลังวางแผนจะส่งของด้วยโดรน บางบริษัทใน อังกฤษได้ทดลองส่งของให้ลูกค้าจริงๆ ด้วยโดรนสำเร็จแล้ว เชื่อมั้ยครับตอนนี้บางบริษัทวางแผนจะสร้าง “โดรนยานแม่” ที่มีลักษณะเหมือนยานเหาะขนาดใหญ่ที่เอาไว้ถ่ายทอดสดกีฬานัดสำคัญๆ นั่นหล่ะครับ เขาวางแผนจะเอาโดรนยานแม่ไปลอยไว้ตรงเหนือบริเวณที่มีคนสั่งซื้อสินค้าเยอะๆ เมื่อลูกค้าสั่งซื้อของผ่านอินเตอร์เน็ต ระบบบนโดรนยานแม่ก็จะปล่อย “โดรนลูก” บรรทุกของที่ลูกค้าสั่งซื้อแล้วก็ปล่อยให้ลอยลงมาจากโดรนยานแม่ ตรงไปยังจุดที่ลูกค้าสั่งซื้อได้อย่างรวดเร็วและประหยัดแบตเตอรี่ของโดรนลูก เมื่อของใกล้หมดก็จะมี “โดรนขนส่ง” ขนสต็อคสินค้ามาเติมที่โดรนยานแม่ แนวคิดทั้งหมดนี้จะทำให้ต้นทุนการจัดส่งถูกลงไปอีก คาดกันว่าการส่งของชิ้นเล็กๆ ด้วยโดรนนั้นน่าจะอยู่ราวๆ 35 บาทต่อการส่งครั้งเท่านั้นเอง

ในโรงงานต่างๆ ก็เช่นกัน วันนี้โรบ็อทกลายเป็น “คน” สำคัญในระบบการผลิตสมัยใหม่ที่ต้องการความรวดเร็ว ความแม่นยำและประสิทธิภาพสูงเพื่อจะได้แข่งขันกับคู่แข่งต่างๆ ได้ โรบ็อทเข้ามามีบทบาทตั้งแต่เรื่องง่ายๆ เช่น ช่วยขนชิ้นส่วนมาส่งยังจุดประกอบ ทำงานร่วมกับคนในการประกอบสินค้า เลยไปถึงเรื่องที่ยากๆ เช่นการตรวจ สอบคุณภาพสินค้าที่ผลิตสำเร็จแล้วก่อนปล่อยออกขาย

คุณแม่คุณพ่อในเมืองจีนเขาเห็นแนวโน้มแบบนี้ชัดเจนมากกว่าคุณแม่คุณพ่อในประเทศอื่นๆ และพวกเขาก็เลยมีความกลัวกันว่าถ้าเทคโนโลยีจะก้าวหน้ากันเร็วขนาดนี้ ถ้าหากลูกของพวกเขาขาดทักษะด้านวิทยาศาสตร์ขึ้นมา อีกหน่อยลูกรักของพวกเขาเวลาทำงานร่วมกับโรบ็อทแทนที่จะไปเป็น “เจ้านาย” ที่สามารถควบคุมโรบ็อทได้ คงจะต้องกลายเป็น “ลูกน้อง” ของโรบ็อท คุณแม่คุณพ่อชาวจีนก็เลยทุ่มเทกันอย่างมากเพื่อให้ลูกรักของพวกเขา ได้ศึกษา “สะเต็ม”

สะเต็ม เป็นเสียงของคำภาษาอังกฤษคือ STEM ซึ่งตัว S ย่อมาจาก Science คือวิทยาศาสตร์ ตัว T  ย่อมาจาก Technology คือเทคโนโลยี ตัว E ย่อมาจาก  Engineering คือวิศวกรรมกรรมศาสตร์ และตัว M ย่อมาจาก Mathematics คือคณิตศาสตร์

สะเต็มคือความรู้วิชาการของศาสตร์ทั้ง 4 ที่ในชีวิตจริงมีความเชื่อมโยงกันอย่างมาก ดังนั้นคนเราจึงต้องอาศัย องค์ความรู้ต่างๆ ของทั้ง 4 ศาสตร์นี้เอาเข้ามาบูรณาการเข้าด้วยกัน และเอามาใช้ในการดำเนินชีวิตและการทำงาน

สะเต็มศึกษาก็คือแนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการความรู้ ใน 4 สหวิทยาการข้างต้น วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยีและคณิตศาสตร์เข้าด้วยกัน โดยจะเน้นที่การนำความรู้ทั้งสี่สาขาวิชานี้เอาไปใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ในชีวิตจริง หรือจะใช้ในการพัฒนากระบวนการผลิตหรือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและการทำงานของผู้คนในอนาคต

คุณแม่คุณพ่ออย่าเพิ่งวาดภาพให้การเริ่มต้นสะเต็มศึกษาเป็นเรื่องอะไรที่ยุ่งยากวุ่นวายซับซ้อนนะครับ ผมขอให้ นึกถึงภาพลูกรักฝึกต่อเลโก้ ต่อหุ่นยนต์ ต่อรถยนต์บังคับหรือการทดลองวิทยาศาสตร์แบบเด็กๆ อะไรพวกนี้ แหล่ะครับคือจุดเริ่มต้นของสะเต็มศึกษา คุณแม่คุณพ่อชาวจีนเขาเชื่อว่าถ้าเปิดโอกาสให้ลูกรักได้ไปเล่นไปเรียนรู้ สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกต้องและจะเป็นการจุดประกายให้ลูกสนใจที่จะศึกษาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยีและคณิตศาสตร์เมื่อพวกเขาโตขึ้น และนั่นหมายความว่าลูกรักของเขาจะมีศักยภาพที่จะทำงานเป็น “เจ้านาย” โรบ็อทได้

มีการสำรวจพบว่าปีๆ หนึ่งพ่อแม่ชาวจีนลงทุนส่งลูกมากกว่า 10 ล้านคน ไปเล่นไปเรียนต่อโน่นนี่นั่นในโรงเรียนพิเศษกัน โดยเด็กแต่ละคนใช้เงินเกินกว่าหนึ่งแสนบาท แถมแต่ละบ้านยังนิยมซื้อพวกตัวต่อทั้งหลายให้ลูกมาฝึก ต่อเล่นที่บ้านอีกด้วย และถ้าลูกบ้านไหนมีทักษะโดดเด่นขึ้นมา คุณแม่คุณพ่อชาวจีนก็จะลงทุนส่งลูกไปแข่งทักษะด้านเหล่านี้ที่สหรัฐเลยแม้จะมีค่าใช้จ่ายหลายแสนบาท คุณแม่คุณพ่อชาวจีนก็จะไม่ลังเลเพราะคิดว่านี่คือ การลงทุนจุดประกายที่สำคัญให้ลูกรัก ว่ากันว่าต่อคุณแม่คุณพ่อชาวจีนเขาไม่จำกัดงบประมาณที่ลูกจะ ตองใช้ เพื่อสะเต็มศึกษา และถ้าถูกถามว่าทำไมยอมจ่ายแพงๆ พวกเขาจะตอบทันทีว่า “รอดูตอนลูกฉันโตขึ้นมาก็แล้วกัน คุ้มแน่นอน”

คิดกันแบบนี้ตลาดสะเต็มศึกษาในจีนถึงโตวันโตคืน ตอนนี้มีอย่างน้อย 500 สถาบันรวมพวก StartUp ในจีนที่ สอน Coding สอน Robotic  และสอน 3-D printing เพราะหลักสูตรเหล่านี้ในโรงเรียนของจีนยังแพ้หลักสูตร แบบเดียวกันในสหรัฐและยุโรป มูลค่าตลาดสะเต็มศึกษาของจีนตอนนี้เลยอยู่ที่ 550,000 ล้านบาทต่อปีแถม กำลังโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการคาดการณ์ว่าตัวเลขเด็กชาวจีนที่คุณแม่คุณพ่อกำลังผลักดัน ให้เรียนสะเต็มนั้นจะ มีจำนวนสูงถึง 50  ล้านคนในอีกสามสี่ปีข้างหน้า ตอนนี้บรรดาผู้ผลิตอุปกรณ์หรือเกมส์พวกนี้ รวมถึงสถาบัน ที่มีหลักสูตรด้านสะเต็มศึกษาดีๆ จากทั่วโลกก็เลยมุ่งหน้ามาขุดทองในจีนกันเต็มไปหมด

ไม่รู้ว่าคุณแม่คุณพ่อชาวจีนเขาตื่นตัวเรื่องสะเต็มศึกษากันมาตั้งแต่ตอนไหน เพราะจากผลสำรวจล่าสุดพบว่า บัณฑิตจีน 40 เปอร์เซ็นต์มีทักษะด้านสะเต็มมากกว่าบัณฑิตจากสหรัฐหรือฝรั่งเศสที่มีทักษะด้านสะเต็มเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ด้วยความที่ประเทศที่ประชากรมากเหลือเกิน ในปีพ.ศ. 2573 คาดกันว่าบัณฑิตจีนจะมีมาก กว่า 200 ล้านคน มากกว่าแรงงานทั้งหมดของสหรัฐเสียอีก และถ้าแรงงานจีนเหล่านี้มีทักษะด้านสะเต็มมากกว่าอีก สหรัฐจะยังเก่งกว่าจีนอีกหรือ? อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา คงจะเห็นปัญหานี้เมื่อต้นปีที่แล้วเขาเลยจัด งบ 143,000 ล้านบาทให้โรงเรียนในสหรัฐเอาไปส่งเสริมการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ ด้านจีนก็ก้าวไปอีกหนึ่งก้าว ด้วยการจัดงบให้เด็กนักเรียนของเขาอีกคนละ 2,100 บาทเพื่อเอาไปใช้ส่งเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์ ได้อ่านบทความนี้แล้วต้องอย่าช้าแล้วนะครับ ถ้าไม่อยากให้ลูกรักเรียนจบแล้วออกไปเป็นลูกน้องโรบ็อท

[smartslider3 slider="9"]

NO COMMENTS