ยุทธศาสตร์สู่ AEC ตอนที่ 92 ยุทธศาสตร์ของสมคิด (2)

0
505

พุธที่แล้วผมบอกว่าสิ่งที่รองนายกฯ สมคิด คิดนั้นยังไม่ใช่ยุทธศาสตร์ วันนี้ผมขอขยายความต่อนะครับ ว่า องค์ประกอบส่วนที่สองและสามของยุทธศาสตร์ที่ไทยเราขาดคืออะไร?

ส่วนที่สองของยุทธศาสตร์คือ “การกำหนดตำแหน่งสำหรับการแข่งขันของประเทศ” โดยตำแหน่งประเทศที่ดี นั้นต้องเป็นตำแหน่งที่กำหนดบนความเก่งของประเทศ หรือนักเศรษฐศาสตร์เรียก “ความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ” ประเทศไทยเราทำอะไรเก่งกว่าประเทศอื่นๆ บ้าง และความเก่งที่ว่านั้นเราจะต้อง “เก่งกว่า”  เพื่อนบ้าน อย่างยั่งยืน ไม่ว่าใครจะพยายามมาแข่งกับเรา เราก็จะเก่งกว่าอยู่เสมอหรือสามารถพัฒนาความเก่งนั้นได้อย่างต่อ เนื่องจนคนอื่นตามไม่ทันได้เสมอๆ

ตำแหน่งประเทศที่ดีนั้นจะได้มาจากการทำ “SWOT” ของประเทศ ไม่ใช่ได้มาจากการที่ “คิด” เอาเองว่า “อยาก” ให้ประเทศเป็นอะไร สิงคโปร์ไม่มีพื้นที่ ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ แต่เมื่อทำ SWOT  ประเทศเสร็จเขาก็กำหนด ตำแหน่งประเทศให้เป็น “ศูนย์กลางการค้าการเงินของอาเซียน” หลังจากทำได้สำเร็จเขาก็ขยับตำแหน่งประเทศ ให้เป็น “ศูนย์กลางการค้าการเงินของเอเชีย” มาเลเซียที่มีความเคร่งครัดกับการปฏิบัติตามหลัก คำสอนของ ศาสนาอิสลามมากกว่าประเทศอื่นๆ จึงกำหนดตำแหน่งประเทศให้เป็น “ประเทศที่แข่งขันด้วยสินค้าและบริการ ที่เป็นฮาลาล” ส่วน สปป.ลาวที่มีภูเขาและแม่น้ำเยอะก็กำหนดตำแหน่งประเทศให้เป็น “แบตเตอรี่ของเอเชีย” สังเกตมั้ยครับว่าตำแหน่งประเทศของประเทศทั้งสามนี่ ไทยเราไม่สามารถไปแข่งกับเขาได้เลย

เมื่อมีตำแหน่งประเทศที่ชัดเจน บทเรียนการพัฒนาประเทศของสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่เริ่มต้นพัฒนาประเทศ หลังไทยแต่วันนี้ แซงหน้าเราไปไกลทั้งสองประเทศแล้ว เขามีองค์ประกอบของยุทธศาสตร์ส่วนที่ 3 ที่ผมยังไม่ เคยเห็นไทยเราเขียนคือ Guiding Policies หรือ “นโยบายกำหนดแนวปฏิบัติ” ส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญยิ่งของ ยุทธศาสตร์ เพราะในส่วนนี้คนคิดยุทธศาสตร์จะต้องกำหนดเป็นไกด์ไลน์หรือแนวทางไว้เลยว่า หน่วยงานไหน จะต้องทำอะไรในช่วงไหน วัดผลอย่างไร และงานของแต่ละหน่วยงานจะต้องส่งเสริมกันตอนไหน อย่างไร

นโยบายกำหนดแนวปฏิบัติที่ดีนั้น เมื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอ่านแล้วจะรู้ได้ทันทีว่าหน้าที่หน่วยงานตัวเองคืออะไร ต้องทำอย่างไร เมื่อไหร่ และงานที่ทำต้องไปประสานกับหน่วยไหน ผลงานหรือ KPI ที่ต้องทำออกมาให้ได้ คืออะไร วัดผลอย่างไร?   ผมเห็นว่าการเขียนยุทธศาสตร์ประเทศล่าสุดของมาเลเซียที่เรียกว่า ONE MALAYSIA นั้นเขียนนโยบายกำหนดแนวปฏิบัติได้ชัดเจนดี ลองอ่านหนังสือหรือบทความผมย้อนหลังดูได้นะครับ

เมืองไทยนั้น จุดผิดพลาดอยู่ตรงที่เรากำหนดตำแหน่งประเทศกว้างมากไป อยากเป็นเสียทุกอย่างเลยขาดโฟกัส จุดผิดพลาดที่สองคือพอได้ตำแหน่งประเทศที่กว้างๆ แล้ว ผู้บริหารประเทศก็มอบหมายให้หน่วยงาน ต่างๆ ไปทำมา โดยไม่ให้ “นโยบายกำหนดแนวปฏิบัติ” แต่ละหน่วยงานก็เลยทำงานไปตามที่ตัวเองจะคิดได้ ซึ่งก็เห็นๆ กันอยู่ว่า “คิดไม่ได้ทำไม่เป็น” แถมยังไม่ชอบทำงานบูรณาการกับหน่วยงานอื่นอีกต่างหาก และจุดตายของประเทศเราคือไม่เคยกำหนด KPI ให้ชัดเจน ถ้าจะมี KPI ก็จะเป็น KPI หลอกๆ ที่ทำงานแล้วได้ KPI แต่ไม่ได้ผลงานที่เป็นประโยชน์

ตำแหน่งประเทศกว้างๆ เวิ้งว้างที่ประกาศออกมานั้น รองฯสมคิดไม่ใช่คนแรกที่อยากให้ไทยเป็นแบบนั้น ผู้บริหารคนที่ผ่านๆ มาก็ล้วนแต่เคยประกาศประมาณนี้มาแล้วทั้งนั้น แต่ที่ไม่เคยมีใครทำได้สำเร็จก็เพราะคนเหล่านั้นล้วนคิดและทำแบบไม่มียุทธศาสตร์นั่นเอง

[smartslider3 slider="9"]