ยุทธศาสตร์สู่ AEC ตอนที่ 65 เรื่องเศร้าของนักคาดการณ์

0
449

แล้ววันที่น่ากลัวก็มาถึงจนได้เมื่อเราได้รู้ความจริงว่าอัตราการเจริญเติบโตของจีดีพีไทยในปี 2557 นี้จะเติบโตประมาณ 1 % เท่านั้น

เมื่อตอนต้นปีหน่วยงานที่เราคิดว่าน่าเชื่อถือได้ออกมาคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไว้ค่อนข้างสวยหรู คือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้ที่ 3.5-4.5 % ขณะที่สภาพัฒน์ฯคาดการณ์ไว้ที่ 3.0-4.0 % และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)คาดการณ์ไว้ที่ 2.7%

ทั้งสามหน่วยงานอาจจะคาดการณ์ต่างกัน แต่ที่ทำเหมือนๆกันคือพวกเขาค่อยๆลดการคาดการณ์ลงทุกๆ 3 เดือน สภาพัฒน์ฯ คาดการณ์ 3.0-4.0%, 1.5-2.5%, 1.5-2.0% ธปท.คาดการณ์ 2.7%, 1.5%, 1.5% ส่วนสศค. คาดการณ์ 3.5-4.5%, 2.1-3.1%, 2.0%

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หน่วยงานทั้งสามใช้วิธีคาดการณ์แบบสูงไว้ก่อนแล้วค่อยๆลดลง เมื่อปี 2556 พวกเขาก็ทำแบบนี้ มาทีหนึ่งแล้ว ตอนต้นปีสภาพัฒน์ฯคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 4.5-5.5% แล้วค่อยๆลดการคาดการณ์ลง เรื่อยๆ เหมือนๆกับสศค.ที่คาดการณ์ไว้ซะสูงลิบที่ 5.7% ส่วนธปท.ปีที่แล้วนี่เสียฟอร์มมากเลยเพราะในเดือน มกราคมคาดการณ์ไว้ที่ 4.9% พอถึงเดือนเมษายนคาดการณ์สูงขึ้นอีกเป็น 5.1% ด้วยเหตุผลว่าเศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวแรงกว่าที่คิด ก่อนจะลดการคาดการณ์ลงเหลือ 4.2% ในเดือน กรกฎาคม สุดท้ายเศรษฐกิจไทยปี 2556 โตเพียง 2.9%

สรุปว่าทั้งปี 2556 และปี 2557 หน่วยงานทั้งสามคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจผิดไป 2-3% หรือผิดเกือบ 50% ซึ่งน่ากังวลในความสามารถของการคาดการณ์ของหน่วยงานเหล่านี้อย่างมาก และที่น่าสงสัยก็คือทำไมหน่วยงาน เหล่านี้ไม่ร่วมมือกันคาดการณ์ตัวเลขเดียวกันและเมื่อไหร่จะเลิกคาดการณ์แบบเว่อร์ๆเสียที

พอตัวเลขเติบโตจริงออกมาห่างจากการคาดการณ์เราก็จะได้ยินเหตุผลสารพันที่พยายามจะอธิบายเราว่าทำไม เศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่โตเหมือนที่พวกเขาคาดการณ์เอาไว้ เหตุผลที่ใช้กันบ่อยก็คือเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นอย่างที่คิด เราก็เลยส่งออกไม่ได้ การเมืองก็ไม่นิ่งเลยทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณทำได้ช้า ฯลฯ

คำแก้ตัวเรื่องการส่งออกนั้นฟังไม่ขึ้นเอาเลยนะครับ เพราะไทยเราอยู่บนโลกเดียวกับประเทศอื่นๆ เช่นเวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์แต่ทำไมเขาส่งออกได้? เลิกหลอกตัวเองกันได้แล้วครับ เราส่งออกไม่ได้ก็เพราะ หนึ่ง) ตลาดเก่าที่เราเคยขายอยู่ประจำเขาซื้อเราน้อยลง สอง) ตลาดใหม่ที่เรายังไม่เคยขายเราก็ยังขายไม่ได้ สาม) สินค้าที่เราผลิตได้โลกไม่ต้องการและสี่) สินค้าที่โลกต้องการเราผลิตไม่เป็น ไม่มีโรงงานที่ผลิตเป็นและที่ภาครัฐต้องเข้าใจก่อนก็คือเรื่องการส่งออกนั้นกระทรวงพาณิชย์นั้นน่ะเป็นแค่เพียงปลายแถวเท่านั้น ตราบใดที่ประเทศไม่มีตำแหน่งประเทศและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน กระทรวงทั้งหลาย เช่นคลัง อุตสาหกรรม ศึกษา แรงงาน ไอซีที และหน่วยงานเช่นบีโอไอ ก็จะไม่สามารถเขียนยุทธศาสตร์ที่บูรณาการและส่งเสริมซึ่งกันและกัน ในการ ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่สามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มและโลกกำลังต้องการได้ กระทรวง พาณิชย์นั้นต่อให้เป็นนักขายขั้นเทพก็คงไม่สามารถเอาสินค้าที่โลกไม่ต้องการไปขายด้วยงบประมาณที่มีอยู่น้อยนิดหรอกครับ

ส่วนเหตุผลที่ว่าการเมืองไม่นิ่งเลยทำให้งบของรัฐออกมาน้อยนั้น ผมคิดว่าไม่น่าจะจริงเพราะ 6 -7 ปีที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลรวมถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันต่างก็แย่งกันอัดฉีดเงิน แบบลดแลกแจกแถมประชาชนกันทั้งนั้น

พุธหน้าจะเขียนถึงประเทศที่อยู่บนโลกใบเดียวกับเรา อยู่ใกล้ๆเราว่าเขาทำอย่างไรจึงส่งออกได้เศรษฐกิจก็เติบโต

[smartslider3 slider="9"]