ยุทธศาสตร์สู่ AEC ตอนที่ 57 ACRC (1)

0
489

คอร์รัปชั่นในเกาหลีใต้ในอดีตนั้นเคยหนักหนาสาหัสไม่น้อยไปกว่าในไทย แต่วันนี้เขาหลุดจากปัญหานี้ไปแล้วนะครับ เขาทำได้อย่างไร?

การคอร์รัปชั่นในเกาหลีใต้เริ่มพร้อมๆกับการที่ประเทศเขาได้เอกราชจากญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2491 เพราะในตอนนั้น รัฐบาลได้ยึดทรัพย์สินและโรงงานของญี่ปุ่นมาเป็นของรัฐ แต่ธุรกิจที่จะสามารถไปซื้อทรัพย์สินเหล่านั้นได้ใน ราคาถูกๆ ก็จะมีเพียงธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลเท่านั้น กลุ่มธุรกิจไหนที่สายสัมพันธ์ดีกว่ากลุ่มอื่นๆ ก็จะเติบใหญ่กลายเป็น “แชโบล” ซึ่งเป็นภาษาเกาหลีแปลว่า “ธุรกิจขนาดใหญ่”

ความสัมพันธ์ระหว่างแชโบลกับการเมืองจึงเป็น “ความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์” เหมือนๆกับในเมืองไทย หากธุรกิจไหนหันไปสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามก็จะถูกประธานาธิบดีใช้กฎหมายปราบปรามคอร์รัปชั่นจับติดคุก หมด ดังนั้นในยุคสมัยก่อน พ.ศ. 2540 การปราบคอร์รัปชั่นจึงเป็นเพียงข้ออ้างบังหน้าที่มีเอาไว้ใช้ ปราบศัตรู ทางการเมืองเท่านั้นเอง

เติบใหญ่ทางธุรกิจก็ยังไม่พอ แชโบลยังอาศัยสายสัมพันธ์ที่ดีรุกคืบเข้าไปซื้อหุ้นธนาคารที่รัฐบาลเคยถือหุ้นอยู่ ซึ่งรัฐบาลก็เต็มใจขายเพราะมีแรงกดดันจากนานาชาติให้เปิดเสรีทางการเงิน พอได้เป็นเจ้าของธนาคารด้วย แชโบลก็เลยสนุกสนานกับการเอาเงินธนาคารที่ตัวเองเป็นเจ้าของไปลงทุนแบบไม่ยั้งจนทำให้สัดส่วนหนี้ต่อสินทรัพย์ของแชโบลนั้นโตเป็นบอลลูนเลยทีเดียว และพอวิกฤติต้มยำกุ้งซึ่งเริ่มต้นจากเมืองไทยลามไปถึงเกาหลีใต้ เศรษฐกิจที่นั่นก็เลยพังพาบไปพร้อมๆกับเมืองไทยเลยทีเดียว

ตั้งแต่ตอนนั้นล่ะครับที่เกาหลีใต้เขารู้ว่าถ้าปล่อยให้มีการโกงแบบนี้ต่อไป เขาไปไม่รอดแน่ ประธานาธิบดี คิม แด จุง ก็เลยผลักดันให้การต่อต้านการคอร์รัปชั่นให้เป็นวาระแห่งชาติ และมีการออกกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชั่นใหม่ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการปราบปรามคอร์รัปชั่นอย่างแท้จริง และได้มีการตั้ง “คณะกรรมการอิสระต่อต้าน คอร์รัปชั่นเกาหลี” หรือ “ Korea Independent Commission Against Corruption : KICAC” ซึ่งมีหน้าที่และ โครงสร้างคล้ายๆกับ ICAC  ของฮ่องกงซึ่งปราบคอร์รัปชั่นได้ดีและหลายๆประเทศได้เอารูปแบบองค์กร และรูปแบบการทำงานไปเป็นต้นแบบใช้กันเลยทีเดียว

ในปี พ.ศ. 2542 คะแนนดัชนีความโปร่งใสขององค์กรความโปร่งใสนานาชาติของเกาหลีใต้ยังได้แค่ 3.8 คะแนนสูงกว่าเมืองไทยที่ได้ 3.2 อยู่ไม่มากเท่าไหร่ แต่พอหลังจากมีกฎหมายปราบปรามคอร์รัปชั่นใหม่และมี KICAC  คะแนนดัชนีความโปร่งใสของเกาหลีใต้เริ่มทิ้งห่างของไทย

แต่เกาหลีใต้เขาไม่ได้หยุดอยู่แค่ KICAC เท่านั้น เพราะเขามองว่าการมุ่งแต่การปราบปรามคอร์รัปชั่น เพียงอย่างเดียว จะไม่ทำให้เกาหลีใต้หลุดพ้นจากปัญหาคอร์รัปชั่นเชิงอุปถัมภ์ได้อย่างเด็ดขาด

เกาหลีใต้มองว่าจะปราบคอร์รัปชั่นที่ฝังรากลึกได้นั้นเขาจะต้องสร้างระบบบริหารราชการให้โปร่งใสมี ประสิทธิภาพ และจะต้องทำให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสและป้องกัน การคอร์รัปชั่นให้ได้ ดังนั้นในปี พ.ศ. 2551 เกาหลีใต้จึงได้เอาอีกสองหน่วยงานคือ ผู้ตรวจการรัฐสภา และคณะกรรมการรับเรื่องอุทธรณ์การบริหารงาน มารวมเข้ากับ KICAC และเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะกรรมการ ต่อต้านการทุจริตและสิทธิพลเมือง” หรือ “ Anti-Corruption and Civil Rights Commission of Korea : ACRC”

การตั้งหน่วยงานใหม่ นั้นไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกาหลีปราบคอร์รัปชั่นเชิงอุปถัมภ์ได้สำเร็จหรอกนะครับ ยุทธศาสตร์ในการทำงานของ ACRC ต่างหากคือปัจจัยสำคัญ พุธหน้าจะมาเล่าให้ฟังครับ

[smartslider3 slider="9"]