มุมมองเกษมสันต์ ตอน คำถามของผู้นำ

0
612

เห็นข่าวนายกฯประยุทธ์ ถามใน ครม.ว่าแม้จะไม่ได้เห็นรายละเอียดข่าวมากนักและไม่มั่นใจว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอม แต่ผมก็นึกดีใจขึ้นมาวูบหนึ่ง

ที่ดีใจก็เพราะผมมองว่าคนเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำระดับชาติ ระดับเมือง ระดับองค์กรธุรกิจ การตั้งคำถามที่ถูกต้อง เป็นเรื่องสำคัญของการเป็นผู้นำในทุกระดับ เพราะถ้าผู้นำถามคำถามเป็น ถามคำถามที่ถูกต้อง คำตอบที่ได้ก็จะทำให้ผู้นำคิดยุทธศาสตร์ต่อได้อย่างถูกต้อง

การที่นายกฯถามว่าทำไมเศรษฐกิจไทยโตน้อยกว่าเวียดนามนั้น เป็นการเริ่มต้นถามด้วยคำถามที่ถูกทางแล้ว เพราะเศรษฐกิจไทยนั้นเติบโตนั้นกว่าเวียดนามจริงๆ และไม่ใช่เป็นการเติบโตน้อยกว่าเพียงปีสองปี แต่เมื่อมองไปข้างหน้าอีกสามสิบปี ไทยเราก็ยังจะเติบโตน้อยกว่าเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการตั้งคำถามให้ถูกนั้นจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่การถามให้ถูกคนก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

ผมยังจำได้ว่าเมื่ออดีตรองนายกฯที่คุมเศรษฐกิจไทยมายาวนานโดนถามว่าทำไมเศรษฐกิจไทยเติบโตน้อยกว่าเวียดนาม รองนายกฯท่านนั้นตอบว่า เพราะเศรษฐกิจเวียดนามนั้นมีขนาดเล็กกว่าเมืองไทยมาก เอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้

ถ้านายกฯถามคำถามกับคนที่ไม่ใช่ ก็จะได้คำตอบประมาณนี้ ดังนั้นเมื่อได้คำตอบแล้วผู้นำที่เก่งก็ควรจะถามคำถามต่อให้ถูกต้องต่อให้ได้ ยกตัวอย่างต่อเนื่อง เมื่ออดีตรองนายกฯตอบว่า เพราะขนาดเศรษฐกิจของเวียดนามนั้นเล็กกว่าเมืองไทย ผู้นำที่เก่งก็ควรจะถามต่ออย่างถูกต้องได้ว่า “แล้วทำไมเศรษฐกิจจีนที่มีขนาดใหญ่กว่าไทยอย่างมโหฬารถึงได้เติบโตได้มากกว่าไทยล่ะ? “ หรือ “แล้วทำไมอินโดนีเซียซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าไทยถึงเติบโตได้มากกว่าไทยล่ะ?” เป็นต้น

แทบจะทุกครั้งที่ผมไปบรรยายเรื่องอาเซียน เมื่อบรรยายถึงการเติบโตของสิงคโปร์ ที่สามารถพัฒนาจากประเทศโลกที่สามกลายไปเป็นประเทศโลกที่หนึ่งหรือประเทศพัฒนาแล้วได้อย่างมหัศจรรย์ โดยผมจะให้ความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ของสิงคโปร์เป็นสำคัญ คำถามหรือข้อสังเกตที่ผมมักจะได้รับจากผู้เข้าอบรมไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา ข้าราชการหรือเป็นนักธุรกิจก็ตามคือ สิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่ไทยเราเอามาใช้เปรียบเทียบไม่ได้เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศเล็กนิดเดียว ประชากรนิดเดียว สิงคโปรืเขาจะขยับปรับตัวอะไรก็ง่ายกว่าไทยเราเยอะ บางคนเลือดรักชาติมากหน่อยก็จะกล้าถึงกับต่อว่าว่าผมไม่รักชาติ มีอคติในการยกตัวอย่างประเทศเล็กๆ มาต่อว่าประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเขาได้

ผมมักจะตอบกลับด้วยประโยคที่ว่า ถ้าผมบรรยายว่าทำไมจีนถึงพัฒนาประเทศได้เร็วจนรายได้เฉลี่ยของคนจีนซึ่งเคยจนกว่าไทยมาก มาตอนนี้แซงไทยไปแล้วและจะทิ้งห่างไทยไปเรื่อยๆ ก็จะมีคนไทยผู้รักชาติยิ่งลุกขึ้นมาต่อว่าผมเช่นกันว่า ผมไม่ยุติธรรมที่ไปยกเอาตัวอย่างประเทศที่มีประชากรมากมายเป็นพันล้านคนมาเปรียบเทียบกับประเทศไทย จีนที่มีขนาดตลาดใหญ่โต จะทำอะไรก็ได้เปรียบประเทศไทย ก็เลยพัฒนาได้เร็วกว่าเรา

โดนผมย้อนเข้าแบบนี้ ผู้ถามก็มักจะยิ้มเจื่อนๆแทบจะทุกคนไป

ผมไม่รู้ว่าในที่ประชุม ครม.วันนั้นมีใครตอบนายกฯว่ายังไงหรือเปล่า? แต่คาดได้ว่าคงไม่มีรัฐมนตรีคนไหนรู้คำตอบที่ถูกต้องจริงๆ หรือถ้ามีคนรู้คำตอบที่ถูกต้อง ผมก็ไม่คิดว่าเขาจะกล้าพูดคำที่นายกฯอาจจะไม่ไพเราะเสนาะหูแบบที่นายกฯชอบฟัง

ดังนั้นนอกจากผู้นำจะต้องฟังคำตอบออกและถามคำถามต่อเป็นแล้ว ทัศนคติของผู้นำต่อคำตอบที่อาจจะแตกต่างไปจากแนวคิดของผู้นำก็ควรจะเป็นทัศนคติที่เปิดกว้าง ยอมรับเหตุผลและความคิดเห็นที่แตกต่าง แล้วนำไปพินิจพิเคราะห์ด้วยเหตุด้วยผลก่อนจะถามคำถามที่ถูกต้องต่อไปอีก

ถ้าผู้นำแสดงท่าทีที่ไม่พอใจ หงุดหงิดอารมณ์เสียทุกครั้งที่ได้ยินคำตอบหรือคำถามที่ไม่ถูกใจ คนรอบข้างก็จะไม่กล้าตอบตรงๆหรือถามตรงๆ ในสิ่งที่ควรตอบหรือถาม องค์กรหรือประเทศก็จะเสียหายในที่สุด

ผมมองว่าอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเราโตช้ากว่าเวียดนามก็เพราะในครม.ของนายกฯประยุทธ์ที่ผ่านมา 7 ปี ยังไม่มีรองนายกฯหรือรัฐมนตรีผู้รู้คำตอบที่ถูกต้องและกล้าหาญพอที่จะตอบตรงๆ เสียที

มองมุมเดียวกับผมไหมครับ?

ปล.มีอีกคำถามที่น่าจะถามในครม.นะครับ “ทำไมเมืองไทยที่ติดโควิดกันแค่หมื่นคนนิดๆ เศรษฐกิจถึงได้ติดลบมากเหลือเกินเหมือนประเทศที่เขาติดโควิดกันเป็นล้านๆ?”

[smartslider3 slider="9"]