กรอบและทิศทางแผนฯ13 ( ตอนจบ) – มุมมองเกษมสันต์

0
664

กรอบและทิศทางแผนฯ13 (ตอนจบ)

สี่อาทิตย์ที่ผ่านมาผมวิพากษ์ถึงร่างกรอบและทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 ซึ่งสภาพัฒน์ ฯ กำลังรับฟังความคิดเห็น และอาทิตย์ที่แล้ว ผมทิ้งท้ายไว้ว่าจะมาวิพากษ์ประเด็นสำคัญที่ท่านเลขา ฯ พูดอยู่ตลอดว่า สภาพัฒน์ ฯ มีหน้าที่เพียงแค่การเขียนแผน แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ไปบังคับให้รัฐบาลหรือหน่วยงานต่าง ๆ ต้องทำตามแผน พอเขาไม่ทำสภาพัฒน์ ฯ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร


ฟังผ่าน ๆ ดูน่าเห็นใจ แต่ผมฉุกคิดได้ว่า ถ้าไม่ใช่หน้าที่ของสภาพัฒน์ ฯ ที่จะผลักดันแผน ฯ ฉบับต่าง ๆ ให้เกิดการปฏิบัติจริงแล้ว จะเป็นหน้าที่ของใคร? สภาพัฒน์ ฯ จะมีหน้าที่เพียงแค่เขียนแผน ฯ ให้เสร็จเพียงอย่างเดียว ใครจะทำก็ช่างไม่ทำก็ช่าง จะเป็นไปได้หรือ? ประเทศไทยจะน่าสงสารขนาดนั้นเลยเชียวหรือ?
ผมจึงไปตรวจสอบแผนกลยุทธ์ สศช. 2563-2565 ดู (สศช. คือสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ในส่วนของวิสัยทัศน์ เขียนไว้ว่า สภาพัฒน์ ฯ เป็นหน่วยงานหลักในการวางแผนและจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศสู่ความสมดุลและยั่งยืน ที่ยึดประโยชน์ส่วนรวม ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและมีประสิทธิภาพสูง โดยมีเป้าหมายข้อหนึ่งคือ “พัฒนาและจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่นำไปสู่ความสมดุลและยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และมีระบบการติดตามประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ”


ในพันธกิจข้อแรกเลยก็เขียนไว้ว่า “หน่วยงานยุทธศาสตร์และคลังสมองของประเทศ (Pragmatic Policy Think Tank) ที่มีบทบาทชัดเจนในการเชื่อมต่อระหว่างการพัฒนาองค์ความรู้ไปขับเคลื่อนนโยบายสู่เป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับชาติและการพัฒนาในระดับต่าง ๆ ที่มีคุณภาพและรวดเร็ว รวมทั้งให้คำปรึกษารัฐบาล ประสานการแปลงนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติ ตลอดจนติดตามประเมินผลนโยบายรัฐบาล”
ส่วนของกลยุทธ์ ก็มีการเขียนไว้เช่นกันว่า “บูรณาการและประสานแผนงานที่เชื่อมโยงหลายหน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ โดยการสนับสนุนให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการและประสานแผนปฏิบัติการ ในความรับผิดชอบของหน่วยปฏิบัติต่าง ๆ ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติ”
ก็เขียนไว้ชัดเจนแล้วนี่ครับทั้งเป้าหมาย พันธกิจและกลยุทธ์ เขียนเอาไว้ชัดเจนมากเลยว่าสภาพัฒน์ ฯ เป็นผู้มีหน้าที่ต้องทั้ง “ผลักดัน ประสานและขับเคลื่อน” แผน ฯ ไปสู่การปฏิบัติ


หรือเพิ่งจะเริ่มเขียนเป้าหมาย พันธกิจและกลยุทธ์แบบนี้ ผมจึงตรวจสอบต่อไปอีกและพบว่าสภาพัฒน์ ฯ นั้นเขียนเป้าหมายแบบก๊อปปี้แล้วเอามาวางแปะเอาไว้ว่า “…ผลักดันยุทธศาสตร์เป้าหมายการพัฒนาประเทศให้เกิดผลในทางปฏิบัติและมีระบบติดตาม ประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ” ในแผนกลยุทธ์ของตัวเองมาตั้งแต่ปี 2551 แล้ว
เมื่อไปตรวจสอบพันธกิจ ก็พบความจริงอีกเช่นเดิมว่า พันธกิจสภาพัฒน์ ฯ คือ “…ประสานการแปลงนโยบายยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติ ตลอดจนติดตามประเมินผลนโยบายของรัฐบาล..” เขียนมาตั้งแต่ปี 2551 แล้ว ในส่วนของกลยุทธ์ ก็เขียนว่า “การขับเคลื่อนแผนพัฒนาสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ” และ “พัฒนากระบวนการกำหนดนโยบายและระบบกำกับการติดตามประเมินผล เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการผลักดันแผนพัฒนาไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลในทางปฏิบัติที่ชัดเจน” มาตั้งแต่ปี 2556


สรุปแล้วในเอกสารที่เป็นแนวทางในการทำงานของสภาพัฒน์ฯเองที่เรียกว่าแผนกลยุทธ์ สศช.ซึ่งสภาพัฒน์ฯเขียนเองนั้น เขียนไว้ชัดเจนเป็นเวลากว่าสิบปีแล้วว่าสภาพัฒน์ ฯ ต้องทั้ง “ผลักดัน ประสานและขับเคลื่อน” ให้มีการนำแผน ฯ ฉบับต่าง ๆ ออกมาปฏิบัติให้ได้
คำถามที่สังคมจะต้องถามกับสภาพัฒน์ ฯ ก็คือ แล้วที่เขียนแผนกลยุทธ์เอาไว้ทำไมไม่ทำตาม หากมีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่ได้ ทำไมไม่แก้ไข หากแก้ไขด้วยตนเองไม่ได้ทำไมไม่ขอให้คนอื่นมาช่วยแก้ไข ที่สำคัญไม่เห็นสภาพัฒน์ ฯ เขียนไว้ตรงไหนเลยว่าสภาพัฒน์ ฯ มีปัญหาในการ “ผลักดัน ประสานและขับเคลื่อน” แผน ฯ ให้เกิดการปฏิบัติจริง มีแต่ที่เขียนว่า “สศช. เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคการเมือง โดยได้รับการมอบหมายภารกิจระดับชาติที่สำคัญจากรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง…”
ดังนั้นก่อนที่จะสรุปการรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนเพื่อเอาไปเขียนแผนฯ13 สภาพัฒน์ฯควรกลับไปปรับปรุงแผนกลยุทธ์ของตนเองเสียก่อน เขียนในสิ่งที่เป็นประโยชน์และปฏิบัติได้จริง พิสูจน์ให้ประชาชนเห็นหน่อยว่าสภาพัฒน์ฯเขียนเป็นและปฏิบัติได้ ก่อนที่ประชาชนจะถามว่าเรายังควรจะไว้วางใจให้หน่วยงานที่แม้แต่แผนกลยุทธ์ของหน่วยงานตนเองยังเขียนไม่เป็นทำไม่ได้ ให้เป็น “หน่วยงานยุทธศาสตร์และคลังสมองของประเทศ” และให้เขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ และเขียนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ อีกต่อไปหรือไม่?

อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 1
อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 2
อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 3
อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 4
อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 5 (จบ)

กรอบและทิศทางแผนฯ13
กรอบและทิศทางแผนฯ13
[smartslider3 slider="9"]