ยุทธศาสตร์สู่ AEC ตอนที่ 90 มืออาชีพ

0
466

การก่อการร้ายในกรุงปารีสคืนวันศุกร์ที่ผ่านมาได้แสดงให้โลกได้เห็นถึงการเป็น “มืออาชีพ” ของการจัดการ ภาวะวิกฤติของรัฐบาลฝรั่งเศส  ความเป็นมืออาชีพนั้นต้องเริ่มต้นที่การมีแผนปฏิบัติการไว้รองรับวิกฤติหลายๆ รูปแบบที่มีการคาดการณ์เอาไว้ว่ามีวิกฤติแบบไหนบ้างที่จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แน่นอนว่าการก่อการร้ายแบบที่ เกิดขึ้นในกรุงปารีสนั้นก็จะต้องอยู่ในแผนการจัดการวิกฤติดังกล่าวด้วย

ลองดูตัวอย่างเหตุการณ์มือระเบิดพลีชีพขณะที่มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมชาติฝรั่งเศสและทีมชาติเยอรมันที่มีคนดูเต็มสนาม 80,000  คนรวมทั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ฟรองซัวส์ ออลลองค์ ที่สนามสตาด เดอ ฟรองซ์ในคืน เกิดเหตุมีมือระเบิดพลีชีพ 3 คนได้ก่อเหตุระเบิดนอกสนามซึ่งทั้งผู้เล่นและคนดูในสนามได้ยิน ถ้าไม่มีแผนปฏิบัติ การรับมือภาวะวิกฤติที่ชัดเจนและไม่มีการซักซ้อมรับมือ บางประเทศอาจจะประกาศว่าเกิดระเบิดนอกสนามและ ยุติการแข่งขันทันที คนดูก็จะตื่นตระหนกวิ่งหนีตายกันออกนอกสนาม ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการเหยียบกัน บาดเจ็บล้มตายอีกมาก แถมเมื่อออกมานอกสนามก็อาจจะเจอกับผู้ก่อการร้ายที่เหลืออยู่คอยทำร้ายเอาอีกด้วย

แต่ที่ฝรั่งเศสซึ่งมีแผนการรับมือภาวะวิกฤติแบบนี้ชัดเจน เขาปล่อยให้การแข่งขันดำเนินไปตามปรกติ เพื่อให้ ผู้คนเกือบแสนคนอยู่ในสนามต่อไป ทั้งนี้เพราะเขารู้ว่าในสนามซึ่งก่อนคนดูจะเข้าสนามได้ เขาได้ตรวจค้นตัว หาอาวุธเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นในสนามจึงปลอดภัยกว่าภายนอกสนามอย่างแน่นอน และในระหว่างนั้นทีมรักษา ความปลอดภัยก็ค่อยๆ พาตัวประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ ออลลองค์ ออกจากสนามแบบเงียบๆ เพื่อให้ออกมาบัญชาการแก้ปัญหาในสถานที่ที่เตรียมเอาไว้แล้วตามแผนปฏิบัติการ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำหน้าที่เคลียร์พื้นที่ด้านนอกสนาม เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยและไม่มีผู้ก่อการร้ายเหลืออยู่แล้ว เมื่อการแข่งขันจบลงซึ่งแน่นอน ว่าตอนนั้นคนดูบางส่วนจะเริ่มได้รับข้อมูลจากญาติพี่น้องที่ดูข่าวจากสื่อต่างๆ แล้ว แต่ฝ่ายรักษาความปลอดภัย ก็สามารถประกาศแจ้งคนดูอย่างเหมาะสมตามข้อความ ซึ่งต้องมีการเขียนเตรียมไว้ในคู่มือปฏิบัติการเบื้องต้นแล้ว ว่าต้องสื่อสารอย่างไรจึงจะไม่ทำให้เกิดความแตกตื่น คนดูจึงค่อยๆ เดินออกจากสนามอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

ในนาทีที่อ่านบทความนี้ หลายท่านอาจจะคิดว่านี่มันก็เป็นเรื่องธรรมดาหรือเปล่า?  คนมีสามัญสำนึกทั่วไปก็น่า จะคิดได้แบบนี้ จริงครับถ้าเราไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติเราอาจมีเวลาคิดได้ แต่ลองนึกว่าเราอยู่ในสถานการณ์จริงๆ สิครับ มีโอกาสมากเหลือเกินที่เราจะพลาดประกาศยุติการแข่งขันและสร้างความตื่นตระหนกและการบาดเจ็บ ล้มตายอีกมากมาย ดังนั้นแผนการปฏิบัติการเพื่อการรับมือวิกฤติจึงต้องระบุหน้าที่แต่ละคนไว้ชัดเจน และต้องมีการฝึกซ้อมเป็นระยะๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถรับมือวิกฤติได้ตามแผนจริงๆ อย่างมีสติ

ส่วนเรื่องการสื่อสารในภาวะวิกฤตินั้น แม้ช่วงต้นๆ ของวิกฤติ การสื่อสารจะดูสับสนเพราะมีผู้ให้ข่าวหลายคน แต่เมื่อตั้งหลักได้ รัฐบาลฝรั่งเศสก็มอบหมายให้มีผู้แถลงข่าวเพียงคนเดียว ทำให้ข้อมูลต่างๆ ชัดเจนขึ้น เป็นไป ตามยุทธศาสตร์การสื่อสารในภาวะวิกฤติที่ผมเคยเขียนไว้ในคอลัมน์นี้เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา

นับวันวิกฤติการต่างๆจะเกิดขึ้นได้ง่ายและใกล้ตัวกว่าที่เราคิดไว้เยอะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะต้องจัดทำ แผนรับมือและแผนการสื่อสารในภาวะวิกฤติเตรียมเอาไว้ดีและฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอนะครับ

[smartslider3 slider="9"]