ยุทธศาสตร์สู่ AEC ตอนที่ 85 ตำแหน่งประเทศในแผนฯ 12 !!!!!

0
486

ในการประชุมประจำปี 2558 ของสภาพัฒน์ฯเรื่องทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สภาพัฒน์ได้เปิดเผยถึงตำแหน่งยุทธศาสตร์ของประเทศไทยอันล่าสุดออกมาให้เราได้รู้ว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้สูงที่มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม เป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาคสู่ความเป็นชาติการค้าและบริการ (Trading and Service Nation) เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรกรรมยั่งยืน แหล่งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และมีนวัตกรรมสูงที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม”

โดยกรอบวิสัยทัศน์แผนพัฒนาฯฉบับที่ 12  นี้จะให้ความสำคัญกับการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่มุ่งสู่การ เปลี่ยนผ่านประเทศไทยจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง มีความมั่นคงและยั่งยืน สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข 

ผมขอตั้งข้อสังเกตเหมือนเดิมว่าเป็นตำแหน่งยุทธศาสตร์ประเทศที่กว้างเวิ้งว้างวังเวงเหมือนที่สภาพัฒน์ฯชอบ เขียนมาโดยตลอด สิ่งที่เขียนไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเป็นประเทศมีรายได้สูงกระจายรายได้เป็นธรรม เกษตรยั่งยืน ฯลฯ นั่นน่ะเป็นเรื่องดีทั้งนั้น ไม่ว่าจะเขียนเอาไว้หรือไม่ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลทุกประเทศต้องนำพาประเทศ ไปสู่จุดนั้นให้ได้อยู่แล้วไม่ต้องเอามาเขียนให้มันยาวเลอะเทอะ ประเทศไหนๆ ก็อยากเป็นประเทศดีๆ แบบนั้นทุก ประเทศแต่ไม่เห็นเขาจะต้องเอามาเขียนไว้กับตำแหน่งยุทธศาสตร์ประเทศกันเลย

ปี พ.ศ. 2508 ตอนที่สิงคโปร์เขาแยกตัวออกมาจากมาเลเซียนั้น ประเทศไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่ประเทศเล็กนิดเดียว คน 1.8 ล้านคนเศษจึงเป็นทรัพยากรเดียวที่เขามีอยู่ ลี กวน ยู กำหนดตำแหน่งประเทศให้เป็น Trading Nation สั้นๆ ง่ายๆ แล้วเขาก็กำหนดยุทธศาสตร์ว่าสิงคโปร์จะเป็น Trading Nation ได้ บริษัทระดับโลกจะมาใช้สิงคโปร์เป็นฐานการค้าขายได้นั้น เขาต้องทำ 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ หนึ่งทำประเทศให้โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ กว่าประเทศอื่น ด้วยการปราบปรามคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังและเด็ดขาด และเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้ง เรื่องด้านทั่วไป (ถนนหนทางและรางรถไฟที่คนไทยชอบ) และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การศึกษา สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม (ที่คนไทยละเลย)

สอง เขาทำคนของเขาให้เก่งกว่าคนชาติอื่นและสร้างความพร้อมคนของเขาให้พร้อมทำงานกับธุรกิจระดับโลก ด้วยการปรับระบบการศึกษาให้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการเรียนการสอน แม้คนจีนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ จะคัดค้านและต่อต้าน แต่ ลี กวน ยู ก็มีความมุ่งมั่นและเด็ดขาดมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนั้นเขายังเน้นให้ระบบการศึกษาของสิงคโปร์สร้างคนให้เก่งทั้งในและนอกห้องเรียน สร้างให้คนมีมาตรฐานด้านจริยธรรมสูง แยกแยะชั่วดีเป็น เมื่อทุกอย่างชัดเจน ทุกคนก็รู้ว่าหน้าที่ของตัวเองคืออะไร การปฏิบัติก็เลยสำเร็จ สิงคโปร์ก็เลย สามารถยกระดับตัวเองจากประเทศยากจนไปเป็นประเทศ พัฒนาแล้วก่อนหน้าทุกประเทศใน AEC ผมขอตั้งคำถามตรงๆ กับสภาพัฒน์ฯหน่อยเถอะว่า การที่ประเทศไทยพัฒนาช้ามากๆ ช้าจนน่าตกใจนั้น สภาพัฒน์ฯคิดว่าเป็นเพราะ (ก) ท่านเขียนยุทธศาสตร์ชาติไม่เป็น?  (ข) ท่านคิดว่ายุทธศาสตร์น่ะต้องเขียน กว้างๆแบบนี้น่ะถูกแล้ว พวกกระทรวงทบวงกรมที่เอาไปปฏิบัติต่างหากที่ไร้ความสามารถ หรือ (ค) ทั้งหมดนี้โทษเศรษฐกิจโลกได้เลย ไทยเราทำถูกทุกอย่างอยู่แล้ว

[smartslider3 slider="9"]